กรุงเทพฯ 11 ก.ค.-“กลุ่มอมตะ”ขอบคุณ ตำรวจไซเบอร์ทลายแก๊งเพจปลอมหลอกลงทุนเทรดหุ้นอมตะอีกระลอก พบผู้เสียหาย 185 ราย มูลค่าเสียหายกว่า 25 ล้านบาท รวบแก๊งมิจฉาชีพได้ 9 ราย หลบหนี 2 ราย เตรียมขยายผล เตือนประชาชนตรวจสอบ ก่อนตัดสินใจลงทุน
นายวิวัฒน์ กรมดิษฐ ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิควิศวกรรม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ในประเทศไทย บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากผลการดำเนินการจับกุมกลุ่มมิจฉาชีพ ที่ทำเพจปลอม และหลอกลวงประชาชนให้มีการลงทุนโดยแอบอ้างชื่อบริษัท และผู้บริหาร เพื่อโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยการอำนวยการของพล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒนครบัญชา ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ สอท. ได้มอบหมายให้พล.ต.ต.ไพโรจน์ สุขรวยธนโชติ รองผู้บัญชาการ สอท. เป็นผู้ควบคุมสั่งการให้สืบสวนคดีในระบบแจ้งความออนไลน์ ชุด “ปฏิบัติการยุบวงจร หลอกลงทุนกลุ่มอมตะ ” และ ได้ร่วมแถลงข่าวการจับกุม โดยออกหมายจับ และจับกุมผู้กระทำผิดได้ทั้งสิ้น 9 ราย และมีการหลบหนี 2 ราย ทั้งนี้ทางบริษัท ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สามารถดำเนินจับกุมได้อีกครั้ง พร้อมจะเดินหน้าให้ความร่วมมือในประสานงานเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อทลายวงจรแก๊งหลอกลวงการลงทุน กลุ่มอมตะ ยืนยันว่า จะไม่นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าว เพราะสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งบริษัทยังได้รับผลกระทบจากการกระทำของกลุ่มมิจฉาชีพอีกด้วย
กลุ่มอมตะ ในฐานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การเชิญชวนเพื่อลงทุนใด ๆ จะดำเนินการผ่านกฎหมายของ และกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์อย่างเคร่งครัด และผ่านตัวแทนโบรกเกอร์ หรือที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ได้รับการรับรองจากตลาดทรัพย์เท่านั้น ไม่มีการเสนอ หรือเชิญชวนให้ประชาชน มาลงทุนผ่านเฟสบุ๊ค หรือติดต่อผ่านระบบไลน์ ที่ใช้วิธีการจูงใจให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่สูงผิดปกติจากความเป็นจริง ดังนั้นขอให้ประชาชนมีการตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจจะลงทุน หากมีข้อสงสัย ให้สอบถามมายังเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่จะตอบข้อเท็จจริงและให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการลงทุนและเสียเงินและทรัพย์สิน
“มีเพจปลอมยังระบาดต่อเนื่อง สร้างผลกระทบให้กับประชาชน ต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง อมตะ มีความไม่สบายใจ และไม่นิ่งนอนใจดำเนินการทางกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้มีการประสานกับเจ้าหน้าที่มาโดยตลอด จนสามารถมีความคืบหน้าในการจับกุมมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของประชาชนก็ต้องมีการตรวจสอบ รายละเอียดต่างๆเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ ให้สังเกตุเพจของกลุ่มมิจฉาชีพ มีการตั้งขึ้นมาใหม่มีอายุไม่นาน ในขณะที่เว็บไซต์ และเพจ ของกลุ่มอมตะ มีการจดทะเบียน และก่อตั้ง ในปี 2012 แลดควรเช็ค ข้อมูลอ้างอิงจดทะเบียนในเพจ (about )ทำให้รู้ได้ว่าเป็นเพจปลอม เพื่อใช้หลอกลวง” นายวิวัฒน์กล่าว
ทั้งนี้ จากการได้รับรายงานข้อมูลที่เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการจับกุมได้ มีผู้เสียหายที่แจ้งความดำเนินการคดี ถึง 185 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 26 ล้านบาท โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมออกหมายจับเพิ่มเติม เพราะมีความเกี่ยวโยงกับการกระทำความผิดในคดีดังกล่าว.-สำนักข่าวไทย