เพชรบุรี 20 มิ.ย. – คปภ.เดินหน้าให้ความรู้แกนนำชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจการทำประกันภัยพืชผลการปลูกข้าวฤดูกาลผลิตปี 60/61 หวังทำเป้า 30 ล้านไร่ปีนี้
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและกำกับธุรกิจประกัจภัย (คปภ.) พร้อมด้วยนางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ร่วมเปิดเวทีอบรมให้ความรู้แกนนำชุมชน ส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี เพื่อออกไปทำความเข้าใจกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 เพื่อดึงเกษตรทำประกันเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 27 ล้านไร่ เพิ่มเป็น 30 ล้านไร่ กระทรวงคลังเตรียมเสนอ ครม.พิจารณาสัปดาห์หน้า การทำประกันภัยปี 2560/2561 ผ่อนปรนหลายเงื่อนไข ด้วยการลดเบี้ยประกันภัยจาก 100 บาท เหลือ 90 บาทต่อไร่ เพื่อให้รัฐบาลใช้เงินอุดหนุนเบี้ยประกัน 60 บาท ที่เหลือ 30 บาท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลออกให้ ชาวนาจึงไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกัน หากเช่าที่นาผู้อื่นต้องมีสัญญามาแจ้งกับ ธ.ก.ส.ทำประกันได้เช่นกัน
ทั้งนี้ หากเป็นเกษตกรที่ไม่ใช่ลูกค้า ธ.ก.ส. รัฐบาลยังช่วยอุดหนุนลดภาระเบี้ยประกันเหลือเพียง 30 บาทต่อไร่ และยังเพิ่มสินไหมทดแทนจาก 1,113 บาทต่อไร่ เป็น 1,260 บาทต่อไร่ เมื่อรวมกับการได้รับการชดเชยของรัฐบาล 1,111 บาท จึงได้รับการชดเชยถึง 2,373 บาทต่อไร่ รายละเอียดต้องรอผลการพิจารณาจาก ครม.เพิ่มเติมอีกครั้ง นอกจากนี้ รัฐบาลยังพร้อมขยายการประกันภัยพืชผลไปยังพืชเศรษฐกิจอื่น ทั้งปาล์มน้ำมัน อ้อย ยางพารา รวมทั้งทุเรียน ซึ่งกำลังได้รับความนิยม และการประมง และนำระบบการวัดผลผ่านเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้เป็นดัชนีวัดผลความเสียหายจากภัยธรรมชาติ หากพื้นที่ใดน้ำท่วม เพียงเล็กน้อยแต่อาจก่อให้เกิดความเสียหายยังมีกองทุนของสมาคมประกันวินาศภัยช่วยเหลือเพิ่ม
“คปภ.ต้องการย้ำกับเกษตรกรชาวนาว่าหากพื้นที่ใดเคยทำประกันแล้ว ปีนี้ไม่อยากทำต่อ เพราะทำประกันแล้วไม่เคยเสียหายนั้น ต้องยอมรับว่าการบริหารความเสี่ยงและภัยธรรมชาติเป็นเหตุบอกล่วงหน้าไม่ได้ เหมือนกับทำประกันภัยรถยนต์ต้องทำประกันทุกปี เพราะเมื่อเกิดความเสียหายจะได้รับการคุ้มครอง ขณะที่ทำประกันภัยพืชผลรัฐบาล และ ธ.ก.ส.ชดเชยออกให้ จึงไม่อยากให้ละทิ้งโอกาส” เลขาฯ คปภ. กล่าว
นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า สมาคมประกันวินาศภัยไทยพร้อมจ่ายเงินชดเชยผ่านระบบพร้อมเพย์ของ ธ.ก.ส.ภายใน 15 วันนับตั้งแต่การประเมินความเสียหายพื้นที่จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมองว่าเมื่อเกษตรกรในพื้นที่ ได้รับข้อมูลชัดเจนพร้อมทำประกันรองรับความเสียหาย แต่หากพื้นที่ใดมีความเสียหายจากภัยธรรมชาติแต่ไม่มากมายถึงขั้นผู้ว่าราชการจังหวัดต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ขอให้เกษตรกรไปแจ้ง ธ.ก.ส. เพื่อร่วมกับเจ้าหน้าที่บริษัทประกันลงพื้นตรวจดูความเสียหายเพื่อเยียวยาเพิ่ม รวมทั้งหากรัฐบาลเดินหน้าพัฒนาแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยหลายพื้นที่จะทำให้การทำประกันภัยต่อไปยังบริษัทต่างประเทศมีความเชื่อมั่นเบี้ยประกันลดลง.- สำนักข่าวไทย