ทำเนียบรัฐบาล 13 มิ.ย.-“วิษณุ” ชี้จะนำชื่อผู้ที่ถูกศาลรธน.สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส. – แคนดิเดตนายกฯ ไปโหวตนายกฯ ไม่ได้ ใครทูลเกล้าฯ ชื่อมีปัญหาต้องรับผิดชอบ ส่วนส.ส.จะใช้ม. 82 สอยใคร ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนจึงทำได้
นายวิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์กรณีหากนักการเมืองคนใดถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแล้วได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด จะสามารถนำรายชื่อดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯได้หรือไม่ ว่า ปกติการจะแต่งตั้งตำแหน่งใดก็ตามเป็นพระราชอำนาจ กรณีแต่งตั้งข้าราชการประจำ ผู้พิพากษา อัยการ อธิบดี หรือการขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีข้อตกลงกับสำนักพระราชวังมา 2-3 ปีแล้วให้ตรวจเข้มงวดกวดขัน ถ้ามีให้กราบบังคมทูลขึ้นไปว่ามีเหตุอย่างนี้อยู่ ส่วนจะโปรดเกล้าฯ อย่างไรก็แล้วแต่ คำตอบนี้เป็นคำตอบเดียวกัน ซึ่งการทูลเกล้าฯ ชื่อนายกรัฐมนตรีใช้หลักการเดียวกันนี้ นี้
เมื่อถามว่ากระบวนการดังกล่าวเป็นกฎหมายหรือเป็นจารีตประเพณี นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องโปรดเกล้าฯ เป็นพระราชอำนาจ ไม่ต้องสงสัยอะไรแล้ว เพียงแต่ต้องกราบบังคมทูลขึ้นไปว่าเกิดอะไรขึ้น และผู้ที่รับผิดชอบหากมีอะไรเกิดขึ้นคือผู้รับสนองพระราชโองการ กรณีเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคือประธานรัฐสภา การรับสนองคือการรับผิดชอบแทน เพราะสิ่งที่ทูลเกล้าฯ ไปต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ต้องรับผิดชอบอย่างนั้น
“เหมือนกับสมัยก่อนโหวต พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานรัฐสภาสมัยนั้นเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี นายอาทิตย์ก็รับผิดชอบไป เพราะฉะนั้นประธานรัฐสภาต้องดูแลให้ถูกต้องให้ดี ถ้าจะเบรกอะไรก็เบรกในชั้นประธานรัฐสภา” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามว่าหากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ กรณีถูกร้องเรียนมีลักษณะต้องห้ามการเป็นส.ส.และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะนำรายชื่อนั้นไปโหวตนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ แม้คดีจะอยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่มีคำตัดสินก็นำไปโหวตไม่ได้ เพราะเมื่อถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว ก็เข้าไปทำหน้าที่ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ปกติแล้วศาลจะไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เร็วเกินไปต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร
เมื่อถามว่าจะใช้กฎหมายใดร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าบุคคลมีลักษณะต้องห้าม นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 82 ซึ่งผู้ที่ร้องได้คือส.ส.จำนวน 1 ใน 10 ของสภาฯ หรือ 50 คน ซึ่งส.ส.จะยื่นได้หลังจากที่ถวายสัตย์ปฏิญาณตนแล้ว จึงจะทำหน้าที่ได้ ส่วนส.ว.จำนวน 1 ใน 10 หรือ 25 คน เพราะส.ว.สามารถลงชื่อเพื่อตรวจสอบส.ส., ส.ว.และรัฐมนตรีได้ โดยยื่นผ่านประธานรัฐสภา อีกช่องทางหนึ่งคือกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นผู้ยื่น เมื่อถามถึงกรณีที่กกต.จะฟ้องใครด้วยความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มาตรา 151 จะฟ้องทางช่องทางใด นายวิษณุ กล่าวว่า ตามมาตราดังกล่าวต้องไปศาลอาญา และไม่มีขั้นตอนการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่มาตรา 151 เป็นที่มาของทุกเรื่อง ถูกต้องแล้วที่ไม่รับเรื่องอื่น เพราะเมื่อ 151 ออกมาแล้วคุมหมดทุกอย่าง แต่กระบวนการนี้ใช้เวลานาน เพราะใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ.-สำนักข่าวไทย