ศาลอาญา 9 มิ.ย. – ศาลฎีกาสั่งประทับรับฟ้อง “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ฟ้อง “ธาริต” อดีตอธิบดีดีเอสไอ พ่วงลูกน้อง สรุปสำนวนคดีสลายม็อบ นปช.ปี 53 โดยไม่สุจริต สอบคำให้การจำเลย 21 ส.ค.
ที่ห้องพิจารณาคดี 910 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนาย ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ในฐานะอดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553 พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ. ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นร่วมกันเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 157, 200
กรณีเมื่อเดือนก.ค. 2554 ถึงวันที่ 13 ธ.ค. 2555 พวกจำเลยได้สรุปสำนวนโจทก์ทั้งสอง ข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการที่ออกคำสั่ง ศอฉ.ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ซึ่งโจทก์เห็นว่า เป็นการแจ้งข้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง และดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวน ต้องเป็นการวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เท่านั้น
คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกฟ้อง เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ดำเนินการไปตามพยานหลักฐาน และบทบัญญัติของกฎหมาย พยานหลักฐานที่นำสืบมาของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาบิดเบือนแจ้งข้อกล่าวหาแก่โจทก์ โจทก์ทั้งสองยื่นฎีกาคัดค้าน
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่าพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุ ม.66 วรรคแรกบัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีเหตุอันควรสงสัยหรือผู้กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่นร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวน”
การกระทำของโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความสงบ เรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของโจทก์ที่ 2 เมื่อมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ทหารและกองกำลังติดอาวุธของผู้ร่วมชุมนุม
ต่อมาจำเลยทั้งสี่ก็ได้สอบสวนและเรียกโจทก์ทั้งสองมารับทราบข้อเท็จจริงและข้อหา โดยบันทึกการแจ้งข้อเท็จจริงและข้อหา ได้ว่า ข้อเท็จจริงในการชุมนุมของกลุ่มนปช.เป็นการชุมนุมโดยสงบ และไม่มีการใช้อาวุธ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า เป็นการสอบสวนให้ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงบางส่วน เพื่อให้เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารเพียงฝ่ายเดียวมีอาวุธ กระทำต่อผู้ร่วมชุมนุม การกระของพวกจำเลยจึงมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่า จำเลยทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตหรือไม่
แม้การสอบสวนของจำเลยทั้งสี่ จะมีพนักงานอัยการเข้าร่วมสอบสวนและต่อมาอัยการยื่นฟ้องโจทก์ทั้งสองต่อศาล แต่ศาลจะต้องตรวจสอบว่ากระบวนการสอบสวนของจำเลยทั้งสี่ได้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากการสอบสวนดังกล่าวกระทำโดยไม่ชอบกฎหมาย ย่อมมีผลให้พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์ทั้งสองก็ได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่หลักฐานที่บ่งชี้ว่าการสอบสวนและแจ้งข้อหาของจำเลยทั้งสี่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบตามกฎหมาย
การกระทำของจำเลยทั้งสี่ที่ได้สอบสวนและแจ้งข้อหาโจทก์ทั้งสอง ตามที่โจทก์ทั้งสองนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนมามีเหตุผลให้เชื่อว่า จำเลยทั้งสี่ไม่ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ มาตรา 200 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น จึงให้ประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา พร้อมตรวจหลักฐานและสอบคำให้การจำเลยทั้งสี่ วันที่ 21 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น. .-สำนักข่าวไทย