มธ. ท่าพระจันทร์ 11 พ.ค.-นักวิชาการ จี้ ส.ว.ทำสัญญาประชาคม ยึดเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้ง โหวตนายกฯ เตือน กกต.ทำหน้าที่ให้เรียบร้อย ยกชุด “พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ” ให้คิด หวั่นเป็นชนวนเหตุวุ่นวายจนรัฐประหารอีกรอบ
นักวิชาการจาก 5 สถาบันการศึกษา ในนามเครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชน แถลงข่าวเปิดโหวตเสียงประชาชน หัวข้อ “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่สมาชิกวุฒิสภาควรโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร” ซึ่งจะเปิดให้โหวต ตั้งแต่ 12.00 น.ของวันที่ 15 พ.ค.ถึงเวลา 12.00 น. วันที่ 18 พ.ค. และจะแถลงผลโหวตในวันเดียวกัน(18 พ.ค.)
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บัตรเลือกตั้งกับซองเหมือนเป็นบัตรโหล ซองโหล จึงกังวลใจและขอเรียกร้องให้กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม โดยไม่ต้องคำนึงว่าใครเป็นคนเลือกเข้ามา ขอให้ประชาชนเป็นหูเป็นตา หากพบความผิดปกติเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ให้ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพไว้ อยากให้ประชาชนช่วยส่งเสียงไปยังส.ว. แม้ว่าเสียงข้างมากในสภาจะเป็นอย่างไร อยากให้เสียงข้างมากเป็นผู้ตั้งรัฐบาล ให้ส.ว.เคารพตรงนี้ และกลไกอำนาจส.ว. ยังอยู่ถึงปีหน้า
“สภาชุดที่แล้ว เป็นสภาที่มี ส.ส.งูเห่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีการใช้เงินเพื่อจูงใจในการย้ายข้าง ย้ายฝั่ง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ต้องการปฏิรูปประเทศไม่ใช่ความสุขที่ประชาชนคนไทยต้องการ ขนาดเสียงปริ่มน้ำยังมีปัญหาขนาดนี้ ถ้าเป็นเสียงข้างน้อย ปัญหาจะมากขนาดไหน” นายปริญญา กล่าว
นายปริญญา เสนอไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ ให้ใช้วิธีการในการลงมติตามข้อบังคับของที่ประชุมรัฐสภากำหนดไว้ว่าให้การลงคะแนนออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 56 ( 2 )ที่ให้ออกเสียงลงคะแนนโดยเปิดเผยเรียงลำดับตามอักษรโดยส.ส.และ ส.ว.คละกัน อาจทำให้ส.ว.บางคนเกิดความกังวล ซึ่งใน( 3 )สามารถที่จะเปลี่ยนวิธีการลง คะแนนได้ จึงเสนอให้ส.ส.ลงก่อนและให้ส.ว. ลงทีหลัง พื่อให้ส.ว.ทราบว่าเสียงของประชาชนนั้นไปทางไหน
ส่วนข้อกังวลที่จะเป็นสุญญากาศทางการเมือง หากเลือกนายกรัฐมนตรีรอบแรกไม่ได้ เพราะต้องตั้งรัฐบาล 376 เสียง ซึ่งส.ว.อาจงดออกเสียง เลือกนายกฯไม่สำเร็จ นายปริญญา กล่าวว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจะเกิดการต่อรอง ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น ที่ร้ายกว่าคือจะมีการใช้วรรค 2 ของมาตรา 172 คือนายกฯ คนนอกบัญชี ถ้าเลือกตามวรรค 1 ไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่ผลดี เพราะหลักการง่ายมากแค่ประชาชนเจ้าของอำนาจเลือกไปทางไหนก็ให้ส.ว.โหวตไปตามนั้น ระหว่างเลือกคนที่เลือกท่านมากับฟังเสียงประชาชนขอให้เลือกประชาชน
นายปริญญา กล่าวว่า รู้สึกกังวลใจว่าการเลือกตั้งอาจเป็นโมฆะ เพราะมีพูดกันถึงกกต. ชุดนายวาสนา เพิ่มลาภที่เคยถูกจำคุกมาแล้ว และยกกรณีเชียงใหม่เขต 8 ที่กกต.ให้ใบส้มไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่การซื้อเสียง และสั่งให้กกต.ชดใช้ ไม่อยากให้เกิดการรัฐประหารอีก อยากให้สังคมไทยก้าวพ้นจากจุดนี้ ม่ควรจะเกิด อยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้เรียบร้อย เพราะหากมีปัญหาจนโมฆะ อาจถูกฟ้องร้องและมีค่าเสียหายสำหรับการจัดการเลือกตั้ง 6,000 ล้านบาท ส่วนการเมืองหลังการเลือกตั้งอยู่ที่ประชาชน
นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า เสียงประชาชนต้องมาก่อน อยากให้ส.ว.ตอบสนองความต้องการของประชาชนทั่วไป ทิ้งมรดกที่ดีให้แก่ลูกหลาน คาดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะ มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 75 – 80% พร้อมขอส่งสารไปยังกกต.ที่มาจาก ส.ว. ที่มาจาก คสช. ที่ทำให้เลี่ยงไม่ได้ว่าตนและประชาชนจะสงสัยว่าบางพรรคการเมืองมีอิทธิพลเหนือกกต. และหลายเหตุการณ์ทำให้คนตั้งข้อสงสัยถึงการทำหน้าที่ของกกต.
“โดยเฉพาะประเด็นล่าสุดเรื่องการยิงเลเซอร์สะพานพระราม 8 ขณะที่การพิมพ์บัตรเลือกตั้งระบบเขตไม่มีชื่อผู้สมัคร ไม่มีชื่อพรรคที่ไม่อำนวยความสะดวก ให้ประชาชน และป้ายหน้าหน่วยเลือกตั้งบางจุดไม่มีชื่อผู้สมัคร จนทำให้ประชาชนเคลื่อนไหวในโซเชียลล่าชื่อขับกกต. สะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจในการทำงานของกกต. ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างความรุนแรง บานปลายจนกระทบระบอบประชาธิปไตยโดยรวม จนทำให้กกต.กลายเป็นคนบาป เพราะเป็นต้นเหตุทำให้เกิดชนวนความรุนแรงขัดแย้งของสังคม” นายพิชาย กล่าว
นายพิชาย ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมามีกกต.ชุดแรกชุดเดียวที่สังคมไว้วางใจ นอกจากนั้นมีปัญหาซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน จึงอ่อนแอ แต่ระยะเวลาที่เหลือไม่กี่วัน ยังคงมีความหวังว่ากกต.จะเปลี่ยนวิธีคิด สลัดจากบ่วง บุญคุณที่ไร้ความชอบธรรม ยืนยันในหลักการที่ถูกต้อง ในการรักษาและสร้างสรรค์ประชาธิปไตย ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้ทหารที่ฉวยโอกาสทำรัฐประหารอีกครั้ง จนทำให้การเลือกตั้งถูกยกเลิก กกต.อาจถูกยุบไปด้วย ที่สำคัญคือจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ที่เป็นต้นเหตุ ทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองไทยขึ้นมา หวังว่าตั้งแต่ 14 พ.ค.จะเห็นกกต.โฉมใหม่ และขอให้ประชาชนจับตาการทำงาน ให้กกต.ทำงานเพื่อรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง
นายโอฬาร ถิ่นบางเตียว จากมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ขอส่งเสียงไปยังส.ว.ให้เคารพเสียงของประชาชน พร้อมขอให้เคารพเสียงของประชาชน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนตื่นตัวมากที่สุด ด้วยความคาดหวังอยากเห็นบ้านเมืองดีขึ้นกว่านี้ ขณะนี้มีสัญญาณนรกจากผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ไม่สมควรทำแต่ทำได้ ทั้งยังอยากให้ส.ว.มีมติในช่วงที่เปิดสมัยวิสามัญว่าจะมีท่าทีอย่างไรกับผลการเลือกตั้ง
“ถ้าประชาชนคิดเห็นเป็นอย่างไร ส.ว.จะเคารพเสียงประชาชนออกมาเป็นมติหรือสัญญาประชาคมกับประชาชนทั้งประเทศ เพื่อคลายความกังวลใจ และสร้างบรรยากาศทางการเมืองให้ดีขึ้น อย่าให้องค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรที่สร้างความคลุมเครือ ส่วนข้อกังวลว่าการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะ หวังว่าเห็นความผิดพลาดเล็กน้อยเป็นจำนวนเยอะ ซึ่งเมื่อมารวมกันก็เป็นมวลใหญ่ของปัญหาและนำไปสู่ความไม่เป็นธรรมกับผลการเลือกตั้ง” นายโอฬาร กล่าว
นายวันวิชิต บุญโปร่ง มหาวิทยาลัยรังสิต ยอมรับว่า มีอคติกับส.ว.เพราะรู้อยู่แล้วถึงที่มาที่ไป ขณะที่การจัดการเลือกตั้ง กกต.ยังไม่ได้ชี้แจงกระบวนการในการนับคะแนนให้ชัดเจน และกังวลที่สุดว่าจะเกิดปัญหาเรื่องการนับคะแนน ถ้าวันที่ 14 พ.ค. จัดการเลือกตั้งแล้วยังมีปัญหา กกต.จะเท่ากับย่อมาจาก “กูใกล้ตาย” และหลายคนคาดการณ์ว่าหลังเลือกตั้งอาจจะมีปัญหา เพราะตอนนี้มีสมรภูมิทางความคิด มีอคติในใจในแต่ละมุมมองของคนเป็นพื้นฐาน
“ไม่อยากให้กกต.ถูกกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความขัดแย้งในสังคมไทย ไม่อยากให้ถูกตีตราเช่นนี้ แต่อยากให้เป็นผู้สร้างสันติภาพในการเมืองไทยหรือ PeaceMaker ไม่ใช่ warmaker ไม่อยากให้กังวลว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นโมฆะหรือไม่ เพราะยิ่งประชาชนตื่นตัวออกมาใช้สิทธิ์มากขึ้น ยิ่งมากเท่าไหร่ ด้วยฉันทามติและเสียงประชาชนจะเป็นเสียงที่ล่วงละเมิดไม่ได้ ที่ใครคนใดคนหนึ่งจะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ” นายวันวิชิต กล่าว
นายธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่ววว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการต่อสู้ที่พีคที่สุด เท่าที่เคยพบมามีการยิงปูพรมมากกว่า1 รอบ จากที่ส่วนใหญ่ยิงรอบแรก แล้วยิงเฉพาะจุด แต่เป็นที่สังเกตว่าครั้งนี้มีการยิงปูพรม มากกว่า 2 รอบและขนาดกระสุนไม่ใช่จุด 22 อาจเกินกว่าเทียบเท่าจรวดฮาพูนที่ยิงข้ามทวีปและล็อคเป้าได้ ซึ่งเป็น Pattern การเมืองในสนามจริง ทำให้คู่ต่อสู้ไม่กล้าจะบอกว่าใครจะชนะกันแน่
“ส่วนหลังเลือกตั้งประเด็นเรื่องแจกกล้วย อย่าเชื่อว่าส.ว.ไม่หิวกล้วย เชื่อว่ารัฐสภาจะกลายเป็นสมรภูมิ Banana politic สถานการณ์แย่พอกันทั้งสองฝ่าย ส.ส.และ ส.ว.-สำนักข่าวไทย