กรุงเทพฯ 10 พ.ค.-ผู้ส่งออกกลุ่มอาหารเผยการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารของไทย ในไตรมาสแรกของปีนี้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10% จากความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดย 3 องค์กรด้านอุตสาหกรรมอาหาร มั่นใจปีนี้ การส่งออกอาหารไทย ยังไปได้ดี คาดจะทำนิวไฮ ต่อเนื่อง สร้างมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่า 1 ล้าน 5 แสนล้านบาท พร้อมเสนอรัฐบาลใหม่แก้อุปสรรคด้านต่างๆ เพื่อเร่งขยายฐานการค้าไทยในตลาดโลกให้ดีขึ้น
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยกล่าวได้แถลงข่าวร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สถาบันอาหาร และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยได้สรุปภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2565 พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 1 ล้าน 4 แสนล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 23% ตามความต้องอาหารของโลกที่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งมีการปรับปรุงขอบเขตสินค้าอาหาร จากเดิมใช้ 24 กลุ่ม เพิ่มเป็น 25 กลุ่มสินค้า เพิ่มกากและเศษที่เหลือจากอุตสาหกรรมผลิต อาหารอาหารสัตว์ และอาหารสัตว์เลี้ยง เข้ามาใหม่ ทำให้มูลค่าการส่งออกอาหารของไทยเพิ่มขึ้นจากเดิม 8% โดยประมาณ ขณะที่ มูลค่าการค้าอาหารโลกในปี 2565 อยู่ที่ 1,867 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 7.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งไทย อยู่ในอันดับ 15 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก จากอันดับ 11 ในปี 2562
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 มูลค่าการส่งออกอาหารไทย นำรายได้เข้าประเทศแล้วกว่า 346,000 ล้านบาท ขยายตัว 10% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำตาลทราย ข้าว ไก่ และผลไม้สด ดังนั้น ในปี 2566 นี้ จะใช้ขอบข่ายสินค้า 25 กลุ่ม ซึ่งได้คาดการณ์มูลค่าการส่งออกของไทย จะทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ อยู่ที่ 1 ล้าน 5 แสนล้านบาท (หรือ 1.5 ล้านล้านบาท ) ขยายตัว 2.1% ตามนโยบายฟื้นฟูและการเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด ปัญหาการขาดแคนอาหาร ทำให้มีความต้องการอาหารเพิ่มสูงขึ้น แต่ละประเทศต้องการสำรองแต่ละประเทศต้องการสำรองอาหารเพิ่ม ขณะที่อาหารไทย ยังมีคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาพลังงาน ความผันผวนจากค่าเงิน รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อที่ยังกดดันกำลังซื้อ และผลิตผลสินค้าเกษตร ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญ เช่น สับปะรดโรงงาน และหัวมันสำปะหลัง มีปริมาณลดลงและราคาปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ ภาคเอกชน มีข้อเสนอรัฐบาลใหม่ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย แม้ปริมาณและมูลค่าการส่งออก รวมถึงราคาส่งออกต่อหน่วย จะขยายตัวมาตลอดในรอบ 10 ปี แต่โครงสร้างอุตสาหกรรมอาหาร ยังพึ่งพาเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ ดังนั้นควรสนับสนุนเกษตรรายย่อย เน้นการรวมกันผลิตและจำหน่าย สร้างระบบการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารอย่างยั่งยืน ภายใต้ BCG โมเดล และสนับสนุนการยกระดับสู่อาหารอนาคต เพื่อให้ไทยเป็นประเทศอยู่กลุ่มรายได้สูงด้วยอุตสาหกรรมอาหาร และที่สำคัญไทย ยังมีอีกปัญหาสำคัญคือขาดแคลนวัตถุดิบในการแปรรูปอาหาร ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ต้องสนับสนุนการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตส่งออกอย่างเดียวโดยไม่กระทบกับตลาดในประเทศ
นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฝากถึงรัฐบาลใหม่ในเรื่องต้นทุนพลังงาน จากค่าไฟฟ้า เพราะหลายอุตสาหกรรมต้องพึ่งพาไฟฟ้า เช่น อาหารแช่เยือกแข็ง และผักผลไม้สด ดังนั้นควรคิดโครงสร้างราคาให้สอดคล้องต้นทุนจริง เพราะขณะนี้ราคาก๊าซปรับลดลงแล้วแต่ค่าไฟฟ้ายังไม่ลดลงตาม รวมทั้งการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เพราะอุตสาหกรรมอาหาร เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเกี่ยวข้องกับคนในประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตร รวมกว่า 40 ล้านคนเป็นต้น.-สำนักข่าวไทย