09 พฤษภาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
Dirty Tricks คือกลยุทธ์การสร้าวข่าวปลอมเพื่อโจมตีนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม
แม้ Dirty Tricks จะมีความคล้ายกับ Negative Campaigning แต่ขณะที่ Negative Campaigning คือการโจมตีขั้วตรงข้ามทางการเมืองด้วยข้อเท็จจริง แต่ Dirty Tricks คือการโจมตีฝ่ายตรงข้ามด้วยข้อมูลเท็จ ที่สร้างขึ้นให้ผู้คนหลงเชื่อโดยเฉพาะ
Brookings Institution องค์กรวิจัยของสหรัฐ ได้แบ่ง Dirty Tricks ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1.ทำลายภาพลักษณ์คู่แข่งทางการเมือง
2.ล้วงความลับพรรคฝ่ายตรงข้าม
3.สร้างความสับสนให้กับผู้ลงคะแนน
4.แทรกแซงกระบวนการนับคะแนน
2.ล้วงความลับพรรคฝ่ายตรงข้าม
“Watergate Scandal”
การล้วงความลับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่อื้อฉาวที่สุดในประวัติศาสตร์โลก คือคดี Watergate เมื่อการเปิดโปงแผนจารกรรมข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมือง ทำให้ผู้นำสหรัฐต้องประกาศลาออกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
คดี Watergate เป็นแผนการของคณะกรรมการการเลือกตั้งสมัยที่สองของประธานาธิบดี (Committee to Re-elect the President) ของพรรคพับลิกัน ที่ว่าจ้างให้ชาย 5 คนให้ลักลอบเข้าไปยังอาคาร Watergate Building ในกรุงวอชิงตันดีซี สถานที่ตั้งของสำนักงานใหญ่พรรคเดโมแครต (Democratic National Committee) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 1972 โดยเชื่อว่าจุดประสงค์ของการจารกรรมเพื่อขโมยแผนการรณรงค์หาเสียงพรรคเดโมแครต ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 1972 ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น
การสอบสวนของเจ้าหน้าที่และการเปิดโปงข้อมูลของสื่อมวลชน ทำให้คดีได้รับการเปิดเผยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่คดีจารกรรมข้อมูลธรรมดา แต่เป็นคดีทางการเมืองที่วางแผนโดยทีมงานหาเสียงของ ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐในขณะนั้น
แม้จะไม่มีหลักฐานชี้ชัดได้ว่า ริชาร์ด นิกสัน มีส่วนรู้เห็นกับแผนการจารกรรมข้อมูลหรือไม่ กระทั่งในเดือนสิงหาคม 1974 มีการเปิดเผยเทปบันทึกบทสนทนาในทำเนียบขาว ที่ยืนยันว่า ริชาร์ด นิกสัน พยายามใช้อำนาจในฐานะประธานาธิบดี สั่งการขัดขวางกระบวนการสอบสวนเพื่อไม่ให้คดีถูกเชื่อมโยงมาถึงพรรคและตนเอง
หลักฐานที่มัดตัวอย่างแน่นหนา นำไปสู่กระบวนการถอดถอน ริชาร์ด นิกสัน ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ก่อนที่นิกสันจะประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยตนเองในวันที่ 8 สิงหาคม 1974 ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ประธานาธิบดีลาออกจากตำแหน่ง
“Internet Research Agency”
การล้วงความลับพรรคการเมืองในปัจจุบัน พัฒนาไปสู่การล้วงข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งส่งผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2016 อย่างใหญ่หลวง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการแทรกแซงเกิดขึ้นโดยน้ำมือของรัฐบาลต่างชาติ
ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2016 จบลงด้วยชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ นักธุรกิจที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง ตัวแทนจากพรรคพับลิกัน ที่เอาชนะ ฮิลลารี คลินตัน ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต ด้วยคะแนน Electoral vote ถึง 304 ต่อ 227 คะแนน
จนเมื่อวันที่ 6 มกราคมปี 2017 ประชาคมข่าวกรองสหรัฐอเมริกา (United States Intelligence Community) ซึ่งรวมถึงสำนักข่าวกรองกลางหรือ CIA สรุปผลการสอบสวนที่ยืนยันว่า รัฐบาลรัสเซียทำการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2016 จุดประสงค์เพื่อบั่นทอนศรัทธาของประชาชนต่อประชาธิปไตยของสหรัฐ จงใจปล่อยข่าวเพื่อสร้างความเสื่อมเสียแก่ ฮิลลารี คลินตัน และทำลายโอกาสการเลือกตั้งของเธอ
ผลการสอบสวนระหว่างเดือนพฤษภาคม 2017 ถึงมีนาคม 2019 ยังพบว่า การแทรกแซงของรัฐบาลรัสเซียเอื้อประโยชน์แก่ โดนัลด์ ทรัมป์ แต่ไม่พบหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ และทีมงานหาเสียงของเขา มีส่วนในการสมรู้ร่วมคิดกับรัฐบาลรัสเซีย
หน่วยงานของรัสเซียที่ทำหน้าที่แทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐได้แก่ Internet Research Agency หรือ IRA องค์กรเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อทางออนไลน์ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย
ปี 2016 IRA ได้เจาะระบบอีเมล์ของพรรคเดโมแครตและระบบอีเมล์ทีมงานหาเสียงของ ฮิลลารี คลินตัน ก่อนนำข้อมูลไปให้เว็บไซต์ Wikileaks โดยข้อมูลจะถูกเผยแพร่ทางออนไลน์ตรงกับการจัดงานประชุม Democratic National Convention ซึ่งเป็นช่วงที่พรรคเดโมแครตกำลังจะเลือกตัวแทนของพรรคเพื่อชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี
ข้อมูลที่ถูกนำมาเผยแพร่ สร้างความเสียหายแก่พรรคเดโมแครตอย่างมาก สมาชิกระดับสูงหลายรายของพรรคต้องประกาศลาออก
ความเสียหายร้ายแรงที่สุดที่ IRA กระทำต่อพรรคเดโมแครต คือการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อสรับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ และโจมตี ฮิลลารี คลินตัน และผู้สมัครของพรรคเดโมแครตทุกราย
ยกเว้นเพียงคนเดียว ก็คือ เบอร์นี แซนเดอร์ วุฒิสมาชิกรัฐเวอร์มอนต์ คู่แข่งชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตของฮิลลารี คลินตัน
จุดประสงค์ในการสนับสนุน เบอร์นี แซนเดอร์ ของ IRA เพื่อต้องการสร้างความแตกแยกในกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต เพราะการเพิ่มฐานเสียงให้กับ เบอร์นี แซนเดอร์ ถือเป็นการลดฐานเสียงของ ฮิลลารี คลินตัน ไปในตัว
แผนการของ IRA นำไปสู่การเกิดกลุ่มผู้ลงคะแนนที่รู้จักในชื่อ Sanders–Trump voters หรือกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต ที่ลงคะแนนเลือก เบอร์นี แซนเดอร์ ระหว่างการเลือกตั้งขั้นต้น (Primary Election) แต่พอถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดี (Presidential Election) พวกเขากลับไม่เลือก ฮิลลารี คลินตัน ที่เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต แต่กลับไปลงคะแนนให้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ของพรรครีพับลิกันแทน
ผลสำรวจพบว่า ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2016 มีฐานเสียงของ เบอร์นี แซนเดอร์ ถึง 12% ที่กลายเป็น Sanders–Trump voters และมีอีก 12% ที่ถึงแม้ไม่โหวตให้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ แต่ก็ไม่โหวตให้กับ ฮิลลารี คลินตัน เช่นเดียวกัน
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.brookings.edu/blog/fixgov/2019/07/11/a-short-history-of-campaign-dirty-tricks-before-twitter-and-facebook/
https://en.wikipedia.org/wiki/Watergate_scandal
https://en.wikipedia.org/wiki/Internet_Research_Agency
https://en.wikipedia.org/wiki/Russian_interference_in_the_2016_United_States_elections
https://en.wikipedia.org/wiki/Sanders%E2%80%93Trump_voters
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter