กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. 13 เม.ย. – ที่ประชุมธนาคารโลก-IMF เรียกร้องปฏิรูปองค์กร รับมือแก้ปัญหายากจน ป้องกันวิกฤติการเงินโลก ให้กับประเทศสมาชิก
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ว่าการธนาคารโลกของประเทศไทย เป็นตัวแทนของกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia Voting Group: SEAVG) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก (Development Committee Meeting) ครั้งที่ 107 ในการประชุม Spring Meetings ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นาย David Malpass ประธานธนาคารโลก นาง Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และผู้ว่าการธนาคารโลกของ 25 กลุ่มออกเสียงที่เป็นตัวแทนของประเทศสมาชิก 189 ประเทศ หัวข้อการประชุม คือ “Evolution Roadmap to Enhance Its Capacity to Respond to the Overlapping Crises”
เวทีการประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการขจัดความยากจน การเพิ่มบทบาทของธนาคารโลก ในการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิก รับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมหลายมิติ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางอาหาร ความเสี่ยงจากโรคระบาด ความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคม ธนาคารโลกได้จัดทำข้อเสนอการวิวัฒน์ธนาคารโลก (Evolution of the World Bank Group) ปฏิรูปโครงสร้างการดำเนินงานของธนาคารโลก การเพิ่มขีดความสามารถในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิก การรักษาระดับความมั่นคงทางการเงิน การส่งเสริมการระดมทุนจากภาคเอกชน และการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน
ที่ประชุมฯ เรียกร้องให้ธนาคารโลกปรับรูปแบบการบริหารองค์กรที่แข็งแกร่งขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤติและความท้าทายหลายด้านที่โลกกำลังเผชิญอยู่ โดยธนาคารโลกควรมีการพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประเทศสมาชิก การเพิ่มโอกาสระดมทุนจากภาคเอกชน โดยที่ประชุมฯ ได้เน้นย้ำถึงการสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ระหว่างธนาคารโลกและประเทศสมาชิก เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกันในปี 2573
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามของ SEAVG เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญอยู่ และเรียกร้องให้ธนาคารโลกจัดการกับปัญหาความยากจน และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยธนาคารโลกควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถทางการเงิน เพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกอย่างครอบคลุม การสนับสนุนองค์ความรู้ในด้านต่างๆ การวิเคราะห์ความยั่งยืนของหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการมีบทบาทนำของธนาคารโลกในการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศและการประสานนโยบาย ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี
ในการประชุม Spring Meetings ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีโอกาสหารือทวิภาคีกับ นาง Manuela V. Ferro รองประธานธนาคารโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ในประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินของประเทศไทย และการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างธนาคารโลกและประเทศไทย และได้มีการหารือทวิภาคีกับนาง Yuriko Backes รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังราชรัฐลักเซมเบิร์ก ในประเด็นภาวะเศรษฐกิจภาพรวมของทั้ง 2 ประเทศ ตลอดจนการผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินทวิภาคี ระหว่างประเทศไทยกับราชรัฐลักเซมเบิร์ก. – สำนักข่าวไทย