ขอนแก่น 11 เม.ย. – จังหวัดขอนแก่นจัดงานสงกรานต์หรือปีใหม่ไทย ในแนวคิดสงกรานต์ 2 วิถี เน้นความโดดเด่นในเรื่องการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสานดั้งเดิมที่วัดไชยศรี ผสานกับกิจกรรมสงกรานต์ร่วมสมัยที่ถนนข้าวเหนียวได้อย่างลงตัว
นายเสกสรร ศรีไพรวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานขอนแก่น เปิดเผยว่า จังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เทศบาลนครขอนแก่น หน่วยงานภาครัฐและเอกชน กำหนดจัดงานสุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูน-เสียงแคน และถนนข้าวเหนียว อีกทั้งยังได้สนับสนุนการจัดงานประเพณี สงกรานต์อีสานดั้งเดิมวัดไชยศรี บ้านสาวะถี กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมสงกรานต์ 2 วิถี โดยการสนับสนุนนักท่องเที่ยวเดินทางร่วมกิจกรรม ดังนี้
วันที่ 13 เมษายน 2566 บริการรถตู้รับนักท่องเที่ยวที่เข้าพักกับโรงแรมที่เป็นสมาชิกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่นและไมซ์จังหวัดขอนแก่น สักการะพระมหาธาตุแก่นนครวัดธาตุพระอารามหลวง เพื่อสรงน้ำพระพุทธพระลับพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองขอนแก่น จากนั้นเดินทางไปยังวัดไชยศรี บ้านสาวะถี เพื่อเข้าร่วมประเพณีเสียเคราะห์อีสานดั้งเดิม เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทยที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน ชมการแสดงหมอลำพื้นบ้านและจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสินไซ มีมัคคุเทศก์น้อยคอยให้ข้อมูล
นายเสกสรร กล่าวอีกว่า วันที่ 14-15 เมษายน 2566 บริการรถตุ๊กตุ๊กรับนักท่องเที่ยว ไหว้พระทำบุญเนื่องในวันปีใหม่ไทย สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 9 แห่ง รอบบริเวณบึงแก่นนครเพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นร่วมสนุกสนานกับกิจกรรม Human Wave คลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์ Return ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานขอนแก่น โทร 043-227714-5ทุกวัน E-mail:tatkhkn@tat.or.th และติดตามข่าวสารกิจกรรมการท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ทาง www.facebook.com/TAT.KhonKaenOffice
ทั้งนี้ ประเพณีสงกรานต์ถือเป็น ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีบุญของชาวอีสาน ซึ่งประเพณีสงกรานต์จะอยู่ในบุญเดือนห้า ถือเป็นกิจกรรมที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน
และที่วัดไชยศรี จังหวัดขอนแก่นได้จัดประเพณีบุญสงกรานต์อีสานแบบดั้งเดิมโดยเป็นที่รู้จักของคนในท้องถิ่น และกิจกรรมที่ทำให้วัดแห่งนี้เกิดความแตกต่างจากวัดอื่น ๆ คือพิธีเสียเคราะห์แบบดั้งเดิม โดยจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกๆปี ในวันที่ 13 เมษายนวันเดียวเท่านั้น พิธีเสียเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ตามพิธีโบราณอีสานได้ปฏิบัติต่อกันมาโดยมีความเชื่อว่าพิธีกรรมเหล่านี้จะช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดีเพิ่มความเป็นสิริมงคลเสริมดวงชะตาให้เข้าสู่ปีใหม่อย่างสดใสและไม่มีอุปสรรค ซึ่งชาวบ้านจะทำกระทง 9 ห้อง พร้อมเครื่องสังเวย จากนั้นจะนำมาร่วมกันที่พระอุโบสถและเขียนชื่อ จากนั้นโยงสายสิญจน์ลงมาที่กระทงของตนเอง และพระก็จะทำการสวดมนต์ จากนั้นจะนำกระทงดังกล่าวไปทิ้งบริเวณหลังวัดเปรียบเสมือนได้ทิ้งสิ่งที่ไม่ได้ออกไปจากชีวิต.-สำนักข่าวไทย