กรุงเทพฯ 10 เม.ย. – ป.ป.ช. ร่วมกับ กทม. ขับเคลื่อนการส่งเสริมให้ประชาชนและภาครัฐ มีส่วนร่วมป้องกันการทุจริต
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (คณะกรรมการ สปท.) ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566
สำหรับการประชุมคณะอนุกรรมการ สปท. เขตพื้นที่กรุงเทพมหานครในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี เนื่องจากในปี 2565 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงไม่ได้จัดให้มีการประชุม ซึ่งนโยบายของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการต่อสู้กับปัญหาการทุจริต ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีการกำหนดสาระสำคัญในเรื่องกรอบระยะเวลาในการไต่สวนคดีทุจริต กำหนดความรับผิดชอบให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. อำนวยการและบริหารคดีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยการดำเนินการเองในเรื่องร้ายแรง และมอบหมายให้หน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ท. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการในเรื่องไม่ร้ายแรง ตลอดจนติดตามการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดมาตรฐานและความเป็นเอกภาพในการทำงาน ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการทางคดีจะส่งผลสู่ประสิทธิภาพความสำเร็จไปสู่การป้องปราม
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เผยว่า พื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการปกครองรูปแบบพิเศษ แม้จะไม่มีกลไกในรูปแบบคณะกรรมการระดับจังหวัด แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ความสำคัญและดูแลพื้นที่นี้เป็นพิเศษ ในฐานะศูนย์กลางทางการบริหาร ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของเกือบทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ดังนั้น คณะอนุกรรมการ สปท. กทม. ชุดนี้ จึงเป็นกลไกความร่วมมือที่แสดงถึงความตั้งใจที่จะดูแลพื้นที่ กทม.ร่วมกัน ขอขอบคุณผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารกรุงเทพมหานครทุกคน ที่ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเชื่อว่าความตั้งใจนี้จะทำให้ กทม. เป็นเมืองหลวงที่ทันสมัย โปร่งใส ปลอดจากสินบน และการทุจริตทุกรูปแบบได้อย่างแท้จริง
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การส่งเสริมให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น กทม.พร้อมให้ความร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช. ในการดำเนินการดังกล่าว และจะใช้แนวทางการป้องกันการทุจริต เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณของ กทม. ต่อไป
ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาแนวทางการประสานความร่วมมือดำเนินการในเรื่องสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ การขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานของรัฐ และการประสานการดำเนินการต่อเรื่องกล่าวหาร้องเรียน. – สำนักข่าวไทย