ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ 31 พ.ค.-นายกฯ แนะภาคธุรกิจนำหลักหนุน 3 เสาหลักด้านสิทธิมนุษยชนในการประกอบธุรกิจ ขออย่ากังวลกับการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลนี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถานำเรื่องหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติกับการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประกอบธุรกิจโดยเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยชน เป็นเรื่องที่ถูกต้องทางศีลธรรม และเป็นโอกาสนำประเทศสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพราะธุรกิจคือพลังขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และสิทธิมนุษยชนคือการดูแลคนทุกคนให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความปลอดภัยในชีวิต มีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสม มีโอกาสเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการของรัฐ และได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม
“ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนคือการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ขออย่ากังวลกับรัฐบาลนี้ที่เข้ามาบริหารประเทศ เพราะผมมีความมุ่งมั่นที่จะยุติความขัดแย้งและวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่สหประชาชาติให้การรับรองหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกที่ประชาคมโลกมีความพยายามสนับสนุนให้การกำหนดความรับผิดชอบของธุรกิจในการเคารพสิทธิมนุษยชนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และรัฐบาลนี้ยืนยันมีความมุ่งมั่นที่ผลักดันให้ประเทศไทยดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการเคารพในสิทธิมนุษยชน โดยยึดหลักการของเสาหลัก 3 ประการ คือ เสาหลักด้านการคุ้มครอง ด้านการเคารพ และด้านการเยียวยา
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หน้าที่ของรัฐด้านการคุ้มครอง ไทยดำเนินการแล้วในหลายส่วน เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงานเพื่อให้คนทำงานได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ไม่บังคับใช้แรงงาน ได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม กฎหมายที่ให้หลักประกันทางสังคม ซึ่งรัฐบาลนี้แก้ไขแล้ว หลายเรื่องประสบความสำเร็จ จึงถือผลงานของรัฐบาลนี้ตลอด 3 ปีที่เข้ามาบริหารบ้านเมือง การบังคับใช้กฎหมายยังมีอยู่บ้าง จึงขออย่าเอาความขัดแย้งมาแก้ปัญหา แต่ต้องมองจุดที่เป็นปัญหาให้ตรงกันและเดินไปข้างหน้าร่วมกัน เพื่อนำไปสู่ความปรองดอง การปฎิรูปประเทศ ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน สิทธิมนุษยชนและทุกหน่วยงาน ที่จะต้องจัดทำแผนให้ชัดเจนว่าหน่วยงานใดต้องดำเนินการ
“การสมยอมระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่จะต้องไม่เกิดขึ้น ทุกคนต้องช่วยกันและช่วยรัฐบาล เพราะบางเรื่องรัฐบาลดูแลไม่ทั่วถึง แต่ขอยืนยันรัฐบาลนี้ให้ความสนใจแก้ไขปัญหาทั้งที่ได้รับจากต่างประเทศ และในประเทศ เช่นการแก้ไขเรื่องการค้ามนุษย์ การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว การแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย เหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ที่กำลังแก้ปัญหาอยู่ แต่ต้องใช้เวลา ที่สำคัญรัฐบาลนี้ตั้งศาลคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์เพื่อพิจารณาคดีด้านนี้ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี มอบแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านสิทธิมนุษยชนแก่กระทรวงยุติธรรม ซึ่งจะเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก ว่า แผนที่จะจัดทำขึ้นควรมุ่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ควรเป็นมาตรการที่ตอบสนองปัญหาได้ตรงจุด สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกได้ในวงกว้าง เป็นไปอย่างโปร่งใสและเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างแท้จริง ส่วนภาคธุรกิจควรหลีกเลี่ยงการดำเนินการที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งโดยตรงและทางอ้อม นอกจากการดูแลสวัสดิการของแรงงานแล้ว ภาคธุรกิจพึงให้ความสำคัญกับชุมชนในพื้นที่ ไม่สร้างผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมในชุมชน
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคธุรกิจ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งคุ้มครองปัจเจกบุคคลและชุมชนจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากบุคคลที่สามด้วย..- สำนักข่าวไทย