กรุงเทพฯ 5 เม.ย.- กรมอุตุฯ เตือนระวังสภาพอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในวันพรุ่งนี้ คาดอุณหภูมิสูงสุด 41-43 องศาเซลเซียส แต่เนื่องจากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ “ดัชนีความร้อน” หรือความรู้สึกร้อนที่สัมผัสได้จะสูงกว่าอุณหภูมิตรวจวัด บางพื้นที่ “ดัชนีความร้อน” สูงถึง 43-45 องศาเซลเซียส อาจทำให้เกิดภาวะลมแดดเป็นอันตรายต่อร่างกาย ย้ำอุณหภูมิที่คาดว่า จะตรวจได้ไม่ถึง 50 องศาเซลเซียส ตามที่แชร์กันในโลกออนไลน์
นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (6 เม.ย.) ประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศร้อนและร้อนจัดบางพื้นที่เนื่องจากลมตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือยังพัดปกคลุม ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนที่ปกคลุมอยู่ นอกจากนี้ยังได้รับปัจจัยจากลมระดับล่างที่ยังมีลมใต้และตะวันออกเฉียงใต้กำลังอ่อนถึงปานกลางพัดนำความชื้นปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง กทม. – ปริมณฑล และภาคตะวันออก สภาวะดังกล่าวส่งผลให้ “ดัชนีความร้อน” เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับ “ดัชนีความร้อน” เป็นดัชนีความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิคาดการณ์หรืออุณหภูมิตรวจวัดได้กับความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ถ้าอากาศยิ่งร้อนและความชื้นยิ่งสูง อุณหภูมิที่เราสัมผัสหรือรู้สึกได้จะสูงด้วย โดยสูงกว่าอุณหภูมิคาดการณ์หรือที่ตรวจวัดได้ ดังนั้น “ดัชนีความร้อน” อาจเรียกง่ายๆ ว่า อุณหภูมิที่เรารู้สึกนั่นเอง
ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า อุณหภูมิสูงสุดวันพรุ่งนี้อยู่ที่ 41-43 องศาเซลเซียสที่จังหวัดลำปาง เพชรบูรณ์ สุโขทัย พิจิตร เลย และชัยภูมิ ส่วนกทม – ปริมณฑล อุณหภูมิสูงสุด 38-40 องศาเซลเซียส ส่วนความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศประมาณ 40-60% เมื่อคำนวณ “ดัชนีความร้อน” คาดว่า พื้นที่ที่ตรวจวัดอุณหภูมิได้ 40-42 องศาเซลเซียสจะมี “ดัชนีความร้อน” เท่ากับ 43-45 องศาเซลเซียส ส่วนกทม. – ปริมณฑล “ดัชนีความร้อน” เท่ากับ 40-42 องศาเซลเซียส
กรมอุตุนิยมวิทยาขอเตือนประชาชนให้ระวังผลกระทบต่อสุขภาพและกิจกรรมต่างๆ ที่ทำกลางแจ้ง โดยกรมอนามัยได้ให้ข้อมูลระดับผลกระทบจาก “ดัชนีความร้อน” ดังนี้
- 27 – 32 องศาเซลเซียส จะอ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความร้อน เฝ้าระวัง ออกกำลังกายหรือใช้แรงงานท่ามกลางอากาศที่ร้อน
- 32 – 41 องศาเซลเซียส จะเกิดอาการตะคริวจากความร้อนและอาจเกิดอาการเพลียแดด (Heat Exhaustion)
- 41 – 54 องศาเซลเซียส จะมีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดอันตรายจากภาวะลมแดด (Heat Stroke) ได้หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
- มากกว่า 54 องศาเซลเซียส เป็นระดับที่อันตรายมาก จะเกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke)
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาชี้แจงเพิ่มเติมว่า แม้พรุ่งนี้สภาพอากาศจะร้อนจัดบางพื้นที่ แต่อุณหภูมิที่คาดว่า จะตรวจวัดได้ไม่ถึง 50 องศาเซลเซียสตามที่มีการแชร์ข้อมูลกันในโลกออนไลน์ โดยจำเป็นต้องระมัดระวังผลกระทบต่อสุขภาพ หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานานดังกล่าว
นอกจากนี้การที่ลมใต้และตะวันออกเฉียงใต้กำลังอ่อนถึงปานกลางที่เกิดจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ แล้วพัดนำความชื้นเข้ามา ปะทะกับหย่อมความกดอากาศต่ำจากความร้อนที่ปกคลุมอยู่ประเทศไทยอยู่ ยังส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน เกิดพายุฤดูร้อนได้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ัจนถึง 9 เมษายน โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่งรวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ จะเริ่มมีผลกระทบในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกก่อน ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคเหนือ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป
จังหวัดที่คาดว่า จะมีผลกระทบ ดังนี้
วันที่ 6 เมษายน 2566
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเก และอุบลราชธานี
ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดสระแก้วและปราจีนบุรี
วันที่ 7 เมษายน 2566
- ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด
ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี - ภาคกลางได้แก่ จังหวัดลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
วันที่ 8 เมษายน 2566
- ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตากกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดเลย ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ภาคกลางได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
วันที่ 9 เมษายน 2566
- ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดเลย ชัยภูมิ ขอนแก่น และนครราชสีมา
- ภาคกลางได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย
ประชาชนสามารถติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย