29 มีนาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
“ซีเซียม-137” คือสารกัมมันตรังสีที่นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ทั้งวงการแพทย์และแวดวงอุตสาหกรรม แต่หากนำไปใช้อย่างขาดความรัดกุม ผลเสียจากการสัมผัสซีเซียม-137 โดยปราศจากสิ่งป้องกันอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ดังเช่นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในเมืองโกอินเนีย ประเทศบราซิล เมื่อปี ค.ศ. 1987 เมื่อการสัมผัส “ซีเซียม-137” โดย “ไม่รู้ตัว” ส่งผลต่อสุขภาพของชาวเมืองนับแสน และคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปถึง 4 ราย จนนิตยสาร Time ยกเป็นหนึ่งในหายนะทางนิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์
เหตุการณ์เริ่มขึ้นเมื่อโรงพยาบาล Instituto Goiano de Radioterapia (IGR) ในเมืองโกอินเนีย สั่งซื้อเครื่องฉายรังสีที่บรรจุสารซีเซียม-137 มารักษาคนไข้ครั้งแรกในปี 1977
กระทั่งปี 1985 โรงพยาบาล IGR ตัดสินใจย้ายไปเปิดกิจการที่เมืองอื่นจะเตรียมทุบอาคารทิ้ง แต่ถูกขัดขวางโดย Society of Saint Vincent de Paul องค์กรผู้ถือสิทธิ์ในตัวอาคาร ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายนำไปสู่การสู้คดี โดยศาลมีคำสั่งห้ามขนย้ายสิ่งของออกจากอาคาร รวมถึงซีเซียม-137 ที่ถูกทิ้งไว้ในเครื่องฉายรังสี
ตัวแทนของโรงพยาบาล IGR พยายามร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานถึงความกังวลที่มีต่อซีเซียม-137 ที่ถูกทิ้งไว้ แต่ไม่มีหน่วยงานใดให้ความสำคัญ ทั้งสถาบันประกันภัยข้าราชการพลเรือน (Ipasgo) หรือคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์แห่งชาติบราซิล (CNEN)
แม้จะมีการว่าจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้มีคนเข้าออกโรงพยาบาลร้างแห่งนี้โดยพลการ แต่ในวันศุกร์ที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1987 โรแบร์โต ดอส ซานโตส อัลเวส และ แวกเนอร์ โมตา เปไรร่า ชาวเมืองโกอินเนีย 2 ราย ใช้โอกาสที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่ได้เข้าเวรในวันนั้น พากันลักลอบเข้าตัวอาคาร
เมื่อได้พบกับเครื่องฉายรังสีที่ไม่มีป้ายเตือนถึงอันตรายที่อยู่ข้างใน ทั้งสองได้ทำการแยกชิ้นส่วนเครื่องฉายรังสี แล้วนำอุปกรณ์ที่บรรจุสารซีเซียม-137 กลับไปยังบ้านพักของตนเอง ด้วยความตั้งใจจะนำ “สิ่งมีค่า” ที่อยู่ในเครื่องฉายรังสีไปขาย
ระหว่างการแยกชิ้นส่วนในเย็นวันนั้น โจรทั้งคู่เริ่มมีอาการคลื่นไส้อย่างหนักซึ่งเป็นผลจากการสัมผัสรังสีเกินขนาด แวกเนอร์ โมตา เปไรร่า เลิกล้มความพยายามในวันที่ 15 กันยายน หลังเกิดอาการท้องร่วง, เวียนศีรษะ ส่วนนิ้วบนมือทั้งสองข้างเริ่มบวมและไหม้จากการสัมผัสรังสี
ต่างจากคู่หูอย่าง โรแบร์โต ดอส ซานโตส อัลเวส ที่ใช้ไขขวงเจาะแคปซูลจนทะลุเห็นสารซีเซียม-137 ที่อยู่ภายในได้สำเร็จในวันที่ 16 กันยายน
สิ่งที่พบสร้างความตื่นตาแก่เขาอย่างมาก เมื่อเขาได้เห็นแสงสีฟ้าสดใสส่องสว่างออกมาจากรูแคปซูลขนาดเล็ก โดยพบว่าต้นกำเนิดแสงคือฝุ่นผงที่ไม่ติดไฟ
2 วันต่อมา โรแบร์โต ดอส ซานโตส อัลเวส ได้นำแคปซูลที่บรรจุ “วัตถุเรืองแสง” ไปขายให้กับ เดอไวร์ เฟอร์ไรรา เจ้าของร้านรับซื้อของเก่า เดอไวร์ เฟอร์ไรรา รู้สึกประทับใจ “วัตถุเรืองแสง” ที่ได้รับมาอย่างมาก จึงนำไปตั้งไว้ในบ้าน ให้ มาเรีย ผู้เป็นภรรยาและสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ ได้ชื่นชมความงามของวัตถุปริศนาชิ้นนี้ พร้อมสั่งให้คนงานช่วยกันเจาะเอาผงเรืองแสงออกมาจากแคปซูลให้มากยิ่งขึ้น
วันที่ 24 กันยายน อีโว เฟอร์ไรรา น้องชายของ เดอไวร์ เฟอร์ไรรา ได้นำ “ผงเรืองแสง” กลับไปยังบ้านพักของตนเอง เขานำผงปริศนาโปรยไปตามพื้นบ้าน ขณะนั้น ไลด์ ลูกสาววัย 6 ขวบของเขากำลังนั่งกินแซนด์วิชอยู่บนพื้นบ้าน เด็กสาวนำผงเรืองแสงมาทาตามตัว พร้อมกินแซนด์วิชที่ปนเปื้อนผงเรืองแสงเข้าไปอีกด้วย
หลังจากนั้นไม่นาน มาเรีย ภรรยาเจ้าของร้านรับซื้อของเก่าที่เริ่มป่วย สังเกตว่าเพื่อนบ้านและคนในครอบครัวที่สัมผัสผงเรืองแสงต่างล้มป่วยกันทีละคน เธอจึงนำแคปซูลไปโรงพยาบาลในวันที่ 28 กันยายน ก่อนที่จะได้รับการยืนยันในวันถัดมาว่า สิ่งที่บรรจุอยู่ในแคปซูลคือสารกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137”
หลังจากนั้นไม่กี่วัน ชาวเมืองโกอินเนียจำนวน 112,000 ราย ต้องถูกเกณฑ์มาตรวจการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี และพบว่ามีผู้สัมผัสสารซีเซียม-137 จำนวน 249 ราย และมีถึง 20 รายที่ป่วยจากการสัมผัสรังสีเกินขนาด
ในเดือนต่อมาพบผู้เสียชีวิต 4 ราย ได้แก่ คนงานร้านรับซื้อของเก่า 2 ราย โดยคนหนึ่งเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและปอดล้มเหลว ส่วนอีกรายเสียชีวิตด้วยโรคระบบทางเดินหายใจและโรคต่อมน้ำเหลือง
ไลด์ หลานสาววัย 6 ปีของเจ้าของร้านรับซื้อของเก่า เสียชีวิตหลังได้รับปริมาณรังสีระดับ 6 Gy โดยเธอมีอาการบวมบริเวณลำตัวท่อนบน, ผมร่วง, ไตและปอดล้มเหลว และอาการเลือดออกภายใน
มาเรีย ภรรยาวัย 37 ปีของเดอไวร์ เฟอร์ไรรา เสียชีวิตหลังได้รับปริมาณรังสีระดับ 5.7 Gy โดยเธอมีอาการท้องร่วง, ผมร่วง, อาการเลือดออกภายใน และไตวายเฉียบพลัน
แม้ เดอไวร์ เฟอร์ไรรา เจ้าของร้านรับซื้อของเก่า จะรอดชีวิตทั้ง ๆ ที่ได้รับปริมาณรังสีสูงถึง 7 Gy แต่ความเศร้าจากการสูญเสียคนในครอบครัว ทำให้เขาป่วยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง และเสียชีวิตจากโรคตับแข็งในปี 1994
ส่วน อีโว เฟอร์ไรรา น้องชายของ เดอไวร์ เฟอร์ไรรา เสียชีวิตในปี 2003 ด้วยโรคถุงลมโป่งพอง
ด้านหัวขโมยต้นเรื่องอย่าง โรแบร์โต ดอส ซานโตส อัลเวส และ แวกเนอร์ โมตา เปไรร่า แม้จะไม่เสียชีวิตเพราะสารซีเซียม-137 แต่ก็ต้องกลายเป็นคนพิการ โดย แวกเนอร์ โมตา เปไรร่า ต้องถูกตัดนิ้วบางส่วนจากมือทั้งสองข้าง ส่วน โรแบร์โต ดอส ซานโตส อัลเวส ต้องถูกตัดแขนขวาเพราะการสัมผัสสารกัมมันตรังสี
ในส่วนของการพิจารณาคดี แพทย์ 3 คนของโรงพยาบาล IGR ถูกดำเนินคดีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยประมาท
คำพิพากษาจากศาลอุทธรณ์ (8th Federal Court of Goiás) เมื่อปี 2000 ตัดสินให้คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์แห่งชาติบราซิล (CNEN) ต้องชดใช้ค่าเสียหายต่อเหยื่อเป็นเงินรายละ 1.3 ล้านเรอัลบราซิลหรือประมาณ 8 ล้านบาท และต้องรับผิดชอบค่ารักษาที่เกิดกับความผิดปกติทั้งทางกายและทางใจ ต่อเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยครอบคลุมไปจนถึงลูกหลานรุ่นที่ 3 ของเหยื่อทุกราย
ข้อมูลอ้างอิง:
https://en.wikipedia.org/wiki/Goi%C3%A2nia_accident
https://web.archive.org/web/20120318233148/http://www.oecd-nea.org/law/nlb/Nlb-66/023-032.pdf
https://www.youtube.com/watch?v=lnkwI86yR08
the Goiania Cesium 137 radiological accident – Neptunium
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter