กรุงเทพฯ 25 มี.ค. – กฟผ. คว้า 6 รางวัล SOE Awards ประจำปี 2565 สะท้อนถึงผลการดำเนินงานขององค์การที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวิจัยร่วมกับ จุฬาฯ – เปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าเป็นเมทานอล
นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย( กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. สนับสนุนทุนร่วมวิจัยกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “การศึกษาการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเมทานอลด้วยปฏิกิริยาไฮโดรจีเนชันโดยตรงของคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับการลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศจากอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า” (Study of Direct Hydrogenation of CO2 to Methanol for decarbonization from flue gas of power plant)
เป้าหมายสำคัญคือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้า ผลที่ได้จากงานวิจัยครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ สู่อุปกรณ์ต้นแบบสำหรับทดลองกับโรงไฟฟ้า กฟผ. เพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ลดผลกระทบจากวิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืนตามนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี พ.ศ. 2593 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย ภายในปี 2608
นอกจากนี้ กฟผ. ยังรับมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2565จำนวน 6 รางวัล แบ่งเป็น รางวัลจากการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจของ สคร. หรือ State Enterprise Assessment Model: SE-AM ได้แก่ รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจดิจิทัล และรางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจยั่งยืน
สำหรับรางวัลจากการส่งเข้าประกวด ได้แก่ รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น จากโครงการ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด เขื่อนสิรินธร (Hydro-Floating Solar Hybrid at Sirindhorn Dam)
รางวัลความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น (ประเภทเชิดชูเกียรติ) จากความร่วมมือระหว่าง กฟผ. กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาระบบ Smart Energy Digital Platform สำหรับผู้ใช้พลังงานในโรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรม และพื้นที่ส่วนกลางของนิคมอุตสาหกรรม” เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรในโรงงาน (Asset Management) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต้นแบบของ กนอ. และพื้นที่อื่น ๆ
รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านความคิดสร้างสรรค์ (ชมเชย) จากโครงการการบริหารจัดการพลังงาน ERC Sandbox และ ENZY Platform สำหรับรองรับรูปแบบการผลิตไฟฟ้าในอนาคต และรางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านนวัตกรรม (ชมเชย) จากโครงการ “การถอดรหัสสัญญาณความสั่นสะเทือน ค้นหาแบริ่งในโรงไฟฟ้าที่มีความเสียหายในระยะเริ่มต้น” ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายของเครื่องจักร และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา .-สำนักข่าวไทย