กรุงเทพฯ 23 พ.ค.-กรมการปกครองพบว่า ปัจจุบันผู้ที่ชื่อและนามสกุล “ซ้ำกัน” มากกว่า 10 ล้านคน เฉพาะที่ชื่อซ้ำกันมีมากถึง 300 คน แต่เมื่อเป็นคดีความ ก็อาจเกิดการฟ้องร้องผิดคนได้ อย่างกรณีแม่ค้าหอยทอดที่สมุทรสงครามเมื่อเร็วๆ นี้ จึงมีคำแนะนำให้ตรวจสอบเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ป้องกันความผิดพลาดในการติดต่อราชการและการทำนิติกรรมต่างๆ
จากกรณีแม่ค้าขายหอยทอดที่สมุทรสงคราม ถูกศาลแพ่งฟ้องให้ชดใช้หนี้ เป็นเงินกว่า 14 ล้านบาท หลังมีชื่อสกุลซ้ำกับบุคคลหนึ่ง สำนักทะเบียนราษฎร์อำเภอบางคนทีตรวจสอบพบว่าเป็นการส่งหมายศาลผิดคน เพราะผู้ที่จะต้องถูกฟ้องตัวจริงมีชื่อสกุลสะกดเหมือนกับเธอ แต่เป็นผู้ชาย และมีเลขบัตรประชาชน 13 หลักที่แตกต่างกัน บริษัทเอกชนจึงขอถอนฟ้องและขออภัยในความผิดพลาด
การไม่ตรวจสอบเอกสารให้ชัดเจน สร้างปัญหาให้ผู้ที่มีชื่อสกุลซ้ำ “ณรงค์ จันทร์ทอง” ผู้ประกาศข่าววิทยุของ อสมท เล่าว่า ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ตามปกติมาหลายปีแล้ว หลังไปติดต่อกับธนาคารและพบว่ามีคนใช้ชื่อสกุลเดียวกันกับเขาอยู่เกือบ 10 คน หลายคนมีคดีความ ถูกขึ้นบัญชีดำกับธนาคาร แต่ระบบการเก็บข้อมูลในอดีตไม่ได้ตรวจสอบถึงเลข 13 หลัก ทำให้เขาเสียโอกาสในการทำธุรกรรมทางการเงินหลายครั้ง เสียเวลาไปศาลต่างจังหวัด เพื่อขอเอกสารรับรองว่าผู้ที่ติดคดีเป็นคนละคนกับเขา
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบข้อมูล กรมการปกครอง ให้ข้อมูลว่า ไทยมีประชากร 65 ล้านคน มีผู้ที่ใช้ชื่อสกุลซ้ำกัน 2 คน อยู่ 6 ล้านคน และมีผู้ใช้ทั้งชื่อและนามสกุลซ้ำกันมากกว่า 2 คนขึ้นไป อีกถึง 11 ล้านคน สมชาย แซ่ตั้ง เป็นชื่อที่มีคนใช้มากที่สุดเกือบ 300 คน รองลงมาคือ อับดุลเลาะ สาและ, สมชาย แซ่ลิ้ม, อับดุลเลาะ อาแว และสมชาย แซ่ลี้ กรมการปกครองมีระบบการตรวจสอบทะเบียนราษฎรในปี 27 มีการออกเลขประจำตัว 13 หลัก ให้ไม่ซ้ำกัน แต่เพิ่งเริ่มใช้ระบบออนไลน์เชื่อมโยงข้อมูลทั่วประเทศตั้งแต่ปี 36 เป็นต้นมา ก่อนจะพบว่ามีคนชื่อ-สกุลซ้ำกันจำนวนมาก แต่จริงๆ แล้วเลข 13 หลัก เป็นสิ่งบ่งชี้ตัวตนที่ถูกกฏหมาย
มีกฎหมายบังคับไม่ให้ตั้งชื่อสกุลซ้ำจนเกิดปัญหา เช่น ห้ามตั้งพ้องกับพระนาม พระราชทินนาม การตั้งนามสกุลก็ต้องไม่ซ้ำกับที่มีอยู่ก่อนแล้ว หรือนามสกุลพระราชทาน หากต้องการใช้นามสกุลซ้ำ ต้องได้รับการยินยอมจากผู้ตั้งคนแรก แม้ในปัจจุบันยังพบผู้มีชื่อสกุลซ้ำ โดยตั้งให้เด็กที่เพิ่งเกิด กรมการปกครองอธิบายว่า อาจเป็นการซ้ำในผู้ที่ใช้นามสกุลเดียวกันมาก่อนแล้ว แต่ตัวชี้วัดว่าเป็นคนละคน คือ เลขประจำตัว 13 หลัก ดังนั้น การทำนิติกรรมสำคัญ เช่น ธนาคารหรือ การออกหมายศาล กรมการปกครองแนะนำว่า ควรตรวจสอบชื่อนามสกุล และตรวจทานเลข 13 หลัก ว่าเป็นบุคคลที่ต้องการจะส่งสารถึงให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้ผิดพลาดและสร้างความเดือดร้อน.-สำนักข่าวไทย