ตรัง 5 ก.ค.- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานชื่อ “ยามีล” ให้แก่พะยูนที่เกยตื้นตัวล่าสุด และทรงรับพะยูนทั้งสองตัวไว้ในโครงการอนุรักษ์แนวปะการังฯ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อ ยามีลให้แก่ลูกพะยูนเกยตื้นตัวล่าสุด วัย 3 เดือน ที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นภาษายาวี มีความหมายว่าชายรูปงามแห่งท้องทะเล และทรงรับลูกพะยูนมาเรียม ลูกพะยูนยามีล ไว้ในโครงการ “อนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริ”
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือ ทช. ร่วมกับกองทัพเรือ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับสนองพระดำริฯ โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย นับว่าเป็นพระเมตตา ที่ทรงให้ความสำคัญมีพระดำริให้มีโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลปะการังและสัตว์ทะเลหายาก ในกลุ่มงานอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ โดยมีแผนงานสนับสนุนการอนุรักษ์พะยูน มุ่งเน้นนำองค์ความรู้จากงานวิจัยพะยูนไปขยายผลในระดับประเทศ รวมถึงใช้ประโยชน์ในระดับชุมชนและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง และพื้นที่ใกล้เคียงที่มีแหล่งพะยูนและหญ้าทะเล เพื่อกำหนดเป็นโมเดลหลักในการนำไปใช้ในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่มีแหล่งพะยูนและแหล่งหญ้าทะเลได้ในอนาคต
ทั้งนี้ จะทำให้หน่วยงานต่างบูรณาการดูแลพะยูน ด้านสุขภาพ การจัดการพื้นที่ และวางแผนในการดูแลพะยูนไทยในอนาคต รวมทั้งใช้เป็นโมเดลศึกษาวิจัยในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการช่วยการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญของระบบนิเวศทรัพยากรทางทะเลและสัตว์ทะเลหายากอีกด้วย
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวอีกว่า สำหรับการดูแลพะยูนทั้งสองตัว ในช่วงนี้ถือว่าน่าพอใจ มาเรียมและยามีล มีสุขภาพแข็งแรง กินนม และหญ้าทะเลได้เพิ่มขึ้น ทำน้ำหนักและขนาดตัวขยับใกล้เกณฑ์ปกติ แต่ยังต้องดูแลต่อไปอย่างน้อยอีก 1 ปี จนกว่าจะมีความพร้อมที่จะดำรงชีวิตในทะเลได้ตามลำพัง อย่างไรก็ตาม ได้มีการวางเครื่อง เจ้าหน้าที่ ชุมชน และจิตอาสา สนับสนุนดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความปลอดภัยและดูแลลูกพะยูนทั้งสอง
นายสัตวแพทย์ปฐมพงษ์ จงจิตต์ นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ตลอดวันที่มีการป้อนอาหาร ป้อนนม ป้อนหญ้านั้น ทุกวันทางทีมสัตวแพทย์ จะตรวจร่างกายให้มาเรียม และดูว่ามาเรียมร่าเริงหรือไม่ รวมทั้งการฝึกในการเจาะเลือดและสวนทวาร (สวนก้น) เพื่อที่จะเก็บตัวอย่างอุจจาระเพื่อนำไปทำการตรวจต่อไป เพื่อนำมาประเมินว่าอาหารที่กินมีการย่อยสมบูรณ์หรือไม่ มีพยาธิเกิดขึ้นหรือไม่ ในส่วนของพัฒนาการมาเรียมนั้นขณะนี้ พบว่ามาเรียมเริ่มปรับตัวเองเข้ากับธรรมชาติได้ดีขึ้น เริ่มมีการกินเล็มหญ้าได้เองแล้วและใช้เวลาอยู่ในแปลงหญ้าได้นานขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับช่วงของน้ำทะเลด้วย ซึ่งช่วงนี้น้ำทะเลจะขึ้นลงเร็ว ทำให้เวลาที่จะใช้ในแปลงหญ้าก็จะน้อยลงและน้ำขุ่นมาก ซึ่งไม่สามารถจะปริมาณหญ้าที่กินเข้าไปได้ แต่ทำได้ด้วยการประมาณเท่านั้น ทั้งนี้ มาเรียมกินเก่งขึ้น ต่อวันจะกินนมได้มากขึ้นต่อวันไม่ต่ำกว่า 3,500 มิลลิกรัม หญ้าทะเลประมาณ 100-200 กรัม สดใสร่าเริง ส่วนน้ำหนักชั่งล่าสุดพบว่าอยู่ที่ประมาณ 29.50 กิโลกรัม ความยาว 120 เซนติเมตรเท่าเดิม ซึ่งความยาวจะช้าเพราะต้องใช้เวลา ส่วนน้ำหนักขึ้นมาเล็กน้อย ส่วนพะยูนเพศผู้ วัย 3 เดือน พบว่าหลงจากแม่พะยูนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม บริเวณบ้านบ่อม่วง ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ความยาว 111 ซม. รอบตัว 66 ซม. น้ำหนักประมาณ 25 กก. ขณะนี้พักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาล ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากภูเก็ต แหลมพันวา ยังต้องอนุบาลในบ่ออนุบาล จนกว่าจะถึงวัยที่อยู่ในทะเลได้ตามปกติ.-สำนักข่าวไทย