ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 9 มี.ค.- ทีมเศรษฐกิจ แจงแผนมุ่งสู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย ส่งไม้ต่อให้รัฐบาลชุดใหม่ขับเคลื่อน บอร์ด กกพ. เคาะการขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ 98 สตางค์ต่อหน่วย ค่าไฟฐานราคา 4.75 บาทต่อหน่วย
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน “THE NEXT THAILAND’ S FUTURE จุดเปลี่ยนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน” ว่า หลังทุกฝ่ายผ่านความยากลำบากจากปัญหาโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้เศรษฐกิจไทยเร่ิมฟื้นตัว พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ยอมรับว่ายอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วงโควิด-19 ประมาณ 4 แสนล้านบาท ในปี 65 ประมาณ 7 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ10 ปี
ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้า มีกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ ทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น เดินทางเข้ามาเจรจาการลงทุน ไทยนับเป็นแหล่งดูดการลงทุนสำคัญ จึงต้องทำให้นักลงทุนมั่นใจ เมื่อไทยประกาศผลักดัน นโยบาย BCG โมเดล มุ่งสู่จัดเปลี่ยนที่ยั่งยืน จะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น บวกกับการมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลไหนมาสานต่อจะขับเคลื่อนต่อได้ง่ายขึ้น
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อัตราค่าไฟฟ้างวด 2 ของปี 2566 ( พฤษภาคม-สิงหาคม) ของภาคอุตสาหกรรมจะต้องต่ำกว่างวดแรกที่ผ่านมา และเป็นอัตราเดียว ไม่ใช่ 2 อัตราเหมือนที่ผ่านมา รัฐบาลพยามช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ ขณะนี้สถานการณ์ราคาพลังงานดีขึ้นทำให้ต้นทุนต่างๆลดลงได้ ส่วนกรณี บอร์ด กกพ. เคาะการขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ 98 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้เมื่อรวมค่าไฟฐานราคา 4.75 บาทต่อหน่วย มองว่า อัตราค่าไฟฟ้าเมื่อรวมไฟฟ้าฐาน ควรจะอยู่ไม่เกิน 4.72 บาทต่อหน่วย เพื่อดูแลทั้งภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม ต้องมาดูรายละเอียดโดยเฉพาะการคืนหนี้ กฟผ.แบกรับภาระต้นทุนกว่า 1.3 แสนล้านบาท จะสามารถปรับอย่างไรบ้าง ที่ผ่านมา กกพ. พิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าเป็น 2 อัตรา คือ ครัวเรือนคิดค่าไฟ 4.72 บาทต่อหน่วย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น และอุตสาหกรรม คิดอัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในปี้นี้อัตราเงินเฟ้อเร่ิมลดลง คาดว่าจะอยู่ในกรอบที่กำหนดเป้าหมายร้อยละ 1-3 และมองว่าการตรึงราคาดีเซล 35 บาทต่อลิตร นับว่าเหมาะสม เพื่อดูแลต้นทุนผู้ประกอบการ และไม่กระทบต่อฐานะกองทุนน้ำมันฯมากนัก สำหรับยอดหนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 61.26 ของ GDP รัฐบาลจึงมุ่งรักษาความสมดุลทางการเงินการคลัง มาตรการพักพักหนี้ ยังมียอดเงินเหลืออีก 61,000 ล้านบาท รองรับความต้องการของเอสเอ็มอี ที่ต้องการทุนใช้ฟื้นฟูกิจการ
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เมื่อปัญหาโควิด-19 คลี่คลายรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้าไทย 40-60 ล้านคนต่อปีในอนาคตอันใกล้ ไทยต้องปรับปรุง โครงสร้างพื้นฐานในทุกด้าน เพื่อให้เข้ามาอาศัยยาวนาน ใช้จ่ายมากขึ้น เน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพ ให้ต่างชาติร่วมดูแลแหล่งท่องเที่ยว จึงเตรียมเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า พิจารณาแผน “ฟื้นประเทศด้วยการท่องเที่ยว” ช่วงปี 66-67 ให้เป็นวาระแห่งชาติหวังพลิกโฉมไทย ประสานทุกหน่วยงาน รองรับนักท่องเที่ยว รัฐบาลเตรียมยกระดับให้ จ.ภูเก็ต เป็นศูนย์ดูแลสุขภาพการผลักดันแผนพัฒนาการท่องเที่ยวไทย ต้องดีกว่าเก่า ด้วยการพัฒนาทรัพยากรยั่งยืน เศรษฐกิจเฟื่องฟู ประชาชนอยู่ดีมีสุข โดยนำนโยบาย BCG มาใช้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ยั่งยืน หวังว่าผลักดันรายได้จากการท่องเที่ยว 6 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนร้อยละ 25 ของจีดีพี
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การท่องเที่ยวนับว่าเพิ่มสูงมากในปนี้คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 28 ล้านคน คาดการณ์จีดีพีในปี 66 ขยายตัวร้อยละ 2.7-3.7 เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้การส่งออกหดตัว ขอให้ทุกพรรคการเมืองรักษาบรรยากาศ ลดความขัดแย้ง เพื่อสร้างความมั่นใจนักลงทุนต่างชาติ สิ่งสำคัญต้องเดินหน้าผลักดัน เช่น การเพิ่มขีดความสามาถการแข่งขัน ด้วยนวัตกรรมการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ บริการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมด้านสุขภาพเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมชีวภาพ.-สำนักข่าวไทย