2 มี.ค. – สถาบันโรคผิวหนังเชิญชวนประชาชนมาทำความรู้จักโรคเรื้อน หรือโรคเนื้อชา สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง แนะนำการดูแลและสังเกตผิวหนังตนเอง หากมีอาการผื่นขาว หรือผื่นแดง ไม่รู้สึกคัน มีอาการชาร่วมด้วยให้รีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับรักษาที่ถูกต้อง
นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงเชื้อโรคเรื้อนจะไปทำให้เกิดความผิดปกติของผิวหนังและเส้นประสาทส่วนปลาย โรคเรื้อนในระยะเริ่มแรกจะเป็นโรคเรื้อนชนิดเชื้อน้อย มักพบเป็นผื่นไม่มาก ผื่นมีสีขาวหรือสีแดง ผิวหนังแห้งชา ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะนี้ โรคจะทวีความรุนแรงขึ้น เป็นโรคเรื้อนชนิดเชื้อมาก ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นผื่นนูน หรือตุ่มแดงทั่วตัว ไม่คัน และอาจมีอาการของเส้นประสาทถูกทำลายทำให้มีอาการมือเท้าชา กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ ประชาชนควรหมั่นดูแลผิวหนังตนเอง หากมีอาการดังที่กล่าวข้างต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงของโรคถึงขั้นเกิดความพิการตามมา
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคเรื้อน หรือโรคเนื้อชา (Leprosy หรือ Hansen’s disease) เป็นโรคติดต่อเรื้อรัง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ มัยโคแบคทีเรียม เลเปร (mycobacterium leprae) โรคเรื้อนเป็นโรคที่ติดต่อ ทางระบบทางเดินหายใจ ผ่านการไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย แต่ไม่ใช่โรคที่สามารถติดต่อได้ง่าย คนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ คือ คนที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีเชื้อมากเป็นเวลานาน และได้หายใจเอาเชื้อโรคนี้ลอยในอากาศเข้าสู่ร่างกาย แต่โดยทั่วไปมากกว่าร้อยละ 95 ร่างกาย คนเราจะมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติต่อโรคเรื้อนอยู่แล้ว ถึงแม้จะได้รับเชื้อก็จะไม่ป่วยเป็นโรค โดยโรคเรื้อนรักษาให้หายขาดได้ด้วยการรับประทานยาฆ่าเชื้อโรคเรื้อน โดยต้องรักษาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 2 ปี แล้วแต่ความรุนแรงของโรค ความพิการ มือเท้าชา กล้ามเนื้อลีบอ่อนแรง ซึ่งการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวนับเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้.- สำนักข่าวไทย