ทำเนียบรัฐบาล 22 พ.ค.-วิษณุเผยประชุมยุทธศาสตร์เตรียมปรับโครงสร้างสภาพัฒน์ เพิ่มงานด้านปฏิรูปประเทศ เดินหน้ากฎหมายอำนวยความสะดวกทำธุรกิจ เรียกนักลงทุน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงการทำงานของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ครบรอบ 3 ปี ว่า เวลาเป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น ส่วนเรื่องการทำตามสัญญาที่ระบุไว้ในปี 57 ขอไม่ตอบ ให้ฟังนายกรัฐมนตรีอธิบายให้ฟังวันพรุ่งนี้ และว่า “ที่ผ่านมาผมยึดพระราชดำรัสของรัชกาลที่6 ที่ว่า เขาชมก็แทงคิว ผิวะฉิวก็ซอรี่” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ ปฎิเสธจะตอบว่าพอใจหรือไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล โดยขอให้ประชาชนเป็นผู้พิจารณาเอง หากประชาชนเขาวิจารณ์ก็รับทราบ อย่างน้อยก็เป็นผลสะท้อนที่รัฐบาลต้องทำงานให้มากขึ้น ส่วนเรื่องที่จะต้องปรับปรุงมีอะไรบ้างตอบไม่ถูก เชื่อว่าวันพรุ่งนี้นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ชี้แจงถึงผลการทำงานที่ผ่านมา
นายวิษณุ กล่าวว่า กฎหมายที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ ขณะนี้มีความคืบหน้าเป็นไปตามเป้าหมาย โดยกฎหมายที่ต้องเร่งผลักดันให้แล้วเสร็จมี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจที่มีความสำคัญแก่ภาคเอกชน ที่เรียกร้องมานานแล้ว และไม่ใช่การเอาใจเอกชน แต่เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภาพรวม เช่นอาจเกิดการจ้างงานมากขึ้น วัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าว เพื่อความรวดเร็ว เรื่องจากมีการเรียกเอกสารน้อยลง และป้องกันการทุจริตได้ ซึ่งคงพูดไม่ได้ว่าแก้กฎหมายเพื่อผู้ประกอบการ แต่เป็นการเอาใจนักลงทุน เมื่อการประกอบธุรกิจง่าย นักลงทุนก็มีเข้ามามาก รัฐก็เก็บภาษีได้ ส่งออกได้มากขึ้นด้วย
“ส่วนกลุ่มที่สองคือกฎหมายที่ออกมาให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กล่าวโดยสรุปกฎหมายที่รัฐบาลต้องเร่งผลักดันจะเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ ทั้ง 6 ด้าน ของรัฐบาล อาทิ ยุทธศาสตร์การเมืองและต่างประเทศ ยุทธศาสตร์กำลังพล ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน และยุทธศาสตร์เกี่ยวกับความเสมอภาคลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างสังคมที่เป็นธรรม” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า วันนี้(22 พ.ค.) ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ที่ประชุมมีมติสำคัญ 3 เรื่อง คือการปรับแก้กฎหมายสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะเป็นการรื้อโครงสร้างการทำงานจากเดิมมีหน้าที่พัฒนาแผนเศรษฐกิจแต่ละฉบับและให้ความเห็นรัฐบาลด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการปรับโครงสร้างจะให้มาดูแลยุทธศาสตร์ 6 ด้านของรัฐบาลดังที่กล่าวมา รวมถึงเข้ามาดูเรื่องการปฎิรูปประเทศ ซึ่งจะจัดตั้งบอร์ดของแต่ละคณะพร้อม ทั้งเพิ่มคณะกรรมการย่อยอีก 1 ชุดมาดูเรื่องสิ่งแวดล้อม ผังเมืองการบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ เข้าไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยจะต้องเสนอแก้กฎหมายเข้าสู่สภาพิจารณาต่อไป ซึ่งยังไม่สามารถกำหนดเวลาที่ชัดเจนได้
“ที่ประชุมยังหารือเรื่องระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งขณะนี้มีการวิจารณ์บางประเด็น เช่น เรื่องการเช่าที่ดิน โดยรัฐบาลจะออกมาตรการบางเรื่องเพื่อเสนอ สนช.นำไปแก้ไขต่อไป และการเดินหน้ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจ ซึ่งได้มอบหมายกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลางการอำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจไทยและต่างประเทศเข้ามาลงทุน เพื่อกระตุ้นการลงทุน ลดขั้นตอน ลดระยะเวลา ลดการเรียกเอกสาร และลดการทุจริตให้น้อยลง โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ตั้งให้สำเร็จภายใน 3 เดือน คือเดือนกันนยายนนี้ และจะนำทั้ง 3 เรื่องนี้เข้าหารือในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พรุ่งนี้(23 พ.ค.) .-สำนักข่าวไทย