ทำเนียบ 19 พ.ค.-นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย ในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) กล่าวภายหลังการประชุมนัดแรก ว่า ที่ประชุมได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 5 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการปรับปรุงยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพ หรือธุรกิจของประชาชน ที่มีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นประธาน / คณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายที่สร้างภาระแก่ประชาชน มีนายสุรชัย ภู่ประเสริฐ เป็นประธาน / คณะอนุกรรมการติดตามกฎหมายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และการปฏิรูปประเทศ โดยให้ทางสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไปคัดสรรบุคคลมาเป็นประธาน / คณะอนุกรรมการกำกับการเสนอร่างกฎหมาย มีนายคำนูณ สิทธิสมาน เป็นประธาน และอนุกรรมการจัดทำกฎหมายใหม่ หรือ สนับสนุนยุทธศาตร์ชาติเพื่อการปฎิรูปประเทศ มีนายบรรเจิด สิงคเนติ เป็นประธาน
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของคณะอนุกรรมการ ทั้ง 5 คณะ ขอเชิญชวนให้ผู้ที่ความสนใจจะเข้ามาเป็นคณะกรรมการ สามารถติดต่อผ่านทางเวปไซต์สำนักงานคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมาย โดยอนุกรรมการแต่ละคณะ จะคัดเลือกจากผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยเน้นให้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงาน เพราะการปฏิรูปต้องมองอนาคต ดังนั้นคนรุ่นใหม่จึงถือว่ามีความจำเป็น เพื่อต้องการให้มีความเห็นที่หลากหลาย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฏหมาย เพียงขอให้เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถและเสียสละเวลามาทำงานเท่านั้น
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำด้วยว่า กฏหมายอาจจะมีเป็นจำนวนมากให้จัดทำบัญชี และจัดลำดับความสำคัญในปี 2560 และปีต่อไป พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องแก้ไขเพื่อใคร และทำให้เข้าใจง่าย โดยยึดประชาชนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่ควรมีความเห็นเกี่ยวกับการใช้มาตรา 44 โดยให้เป็นการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าคณะกรรมการชุดนี้ จะทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด
ด้านนายกิตติพงษ์ อุรพีพัฒนพงศ์ คณะกรรมการฯ กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ ที่ส่งผลต่อทั้งนักธุรกิจต่างชาติและนักธุรกิจไทย ก็จะช่วยให้ภาพรวมและความง่ายต่อการดำเนินธุรกิจในไทยดีขึ้น ทั้งนี้คาดว่า เมื่อเริ่มทำงานได้ 3-4 เดือน ก็จะมีผลงานที่คืบหน้าออกมาตามลำดับ และตั้งเป้าว่า ในระยะเวลา 7-8 เดือน จะมีปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ หรือแม้แต่กฎกระทรวงต่างๆ ไม่น้อยกว่า 1,000 ฉบับ.-สำนักข่าวไทย