กรุงเทพฯ 19 พ.ค. – รัฐมนตรีเกษตรฯ เตรียมแก้ปัญหากองทุนฟื้นฟูฯ สัปดาห์หน้า หลัง ม. 44 สั่งยุบคณะกรรมการชุดปัจจุบัน พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาสหกรณ์ฯ นพเก้า
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมผู้บริหารกระทรวงฯ ว่า หลังจากมีมาตรา 44 ของคำสั่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรพ้นจากตำแหน่งทั้ง 3 ชุด รวมทั้งนายวัชระพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ถูกประเมินการทำงานและไม่ผ่านการประเมินจากคณะทำงานว่า สัปดาห์หน้าจะเข้าไปดูเรื่องนี้ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อทำงานไปก่อน 180 วันนับจากนี้
สำหรับคณะกรรมการเฉพาะกิจ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นกรรมการ เพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรกว่า 10,000 รายที่มีหนี้สินกับสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ มูลหนี้ 3,000 ล้านบาท นอกจากนี้ จะมีการแต่งตั้งเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูฯ โดยจะคัดเลือกจากรองเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อให้การทำงานเดินหน้าต่อไปได้ทันที ซึ่งระยะแรกจะดูเรื่องที่เป็นปัญหาก่อนและจะต้องไปดูว่าจะต้องแก้ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ หรือไม่
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวถึงมาตรการแก้ไขปัญหาสหกรณ์เคหะสถานนพเก้าร่วมใจ จำกัด ว่า เมื่อเมษายนที่ผ่านมาสหกรณ์ที่นำเงินมาฝากขอถอนเงินคืน แต่สหกรณ์เคหะสถานนพเก้าร่วมใจ จำกัด ไม่สามารถคืนเงินฝากได้ และจากการตรวจสอบทรัพย์สินเบื้องต้นของสหกรณ์ฯ พบว่าไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ และพบปัญหาอื่น ๆ กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงให้นายทะเบียนสหกรณ์สั่งเลิกสหกรณ์ฯ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 เนื่องจากไม่อาจดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ไม่ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องให้เสร็จ ไม่สามารถปิดบัญชีได้ และไม่จัดประชุมใหญ่ แจ้งสำนักงาน ปปง. เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินของสหกรณ์ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 และร้องทุกข์ต่อตำรวจ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 เพื่อดำเนินคดีกับคณะกรรมการฯ กรณีซื้อที่ดินราคาสูงเกินจริง
ส่วนสหกรณ์ที่นำเงินมาฝากกับสหกรณ์นพเก้าฯ ได้แก่ ชุมนุมธนกิจฯ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนนทบุรี และสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬา โดยนายทะเบียนสหกรณ์ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ให้คณะกรรมการฯ ของสหกรณ์ทั้ง 3 แห่ง ฟ้องเรียกเงินคืนจากสหกรณ์นพเก้าฯ ภายใน 15 วัน ตรวจสอบหลักประกันว่าเพียงพอกับมูลหนี้หรือไม่ หากพบว่าไม่เพียงพอให้คณะกรรมการฯ ชุดที่ดำเนินการชดใช้คืนสหกรณ์ หากพบว่าการกระทำของคณะกรรมการฯ ส่อไปในทางทุจริตให้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์วางแนวทางกำกับ ตรวจสอบ และส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านการกำกับ ออกเกณฑ์กำกับครอบคลุมความเสี่ยง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านธรรมาภิบาล ด้านเครดิต ด้านสภาพคล่อง และด้านปฏิบัติการ ตั้งคณะกรรมการกำกับและตรวจสอบการประกอบกิจการทางการเงินของสหกรณ์ฯ ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ซึ่งในระยะต่อไป จะจัดตั้งหน่วยงานอิสระขึ้นมากำกับ และสร้างเครื่องมือกำกับตามเกณฑ์ และจัดลาดับความสำคัญของเกณฑ์ ให้สหกรณ์รายงานข้อมูลธุรกรรมทางการเงินทุกเดือน จัดตั้งศูนย์วิเคราะห์การเงินฯ ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อติดตามสถานภาพทางการเงินของสหกรณ์ พัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้ด้านการเงินโดยเฉพาะ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัย เร่งดำเนินการในเดือนมิถุนายน 2.ด้านการตรวจสอบสหกรณ์เป้าหมายที่ได้จากศูนย์วิเคราะห์การเงินฯ เพิ่มบทบาทของผู้ตรวจสอบกิจการ ให้เข้มแข็งมากขึ้น ตั้งทีมตรวจสอบการปฏิบัติตามเกณฑ์กำกับ และ 3.ด้านการส่งเสริม พัฒนาเจ้าหน้าทีส่งเสริมสหกรณ์ระดับจังหวัด ให้มีความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์กำกับ ใช้เครื่องมือกำกับตามเกณฑ์ ในการเข้าแนะนำส่งเสริมสหกรณ์ เพิ่มบทบาทเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์การในตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อแนะนำให้กับสหกรณ์.-สำนักข่าวไทย