กรุงเทพฯ 7 ก.พ.- “คลัง-แบงก์ชาติ” เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ มอบแบงก์รัฐเคาะประตูบ้านเจรจาลูกค้า หลังพอใจมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ กำหนด KPI แบงก์รัฐ เร่งแก้ปัญหาหนี้ในปี 66
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ สัญจรทั้งในกรุงเทพมหานคร และ 4 ภูมิภาค รวม 5 ครั้ง นับว่ารายย่อยสนใจเข้าร่วมแก้ปัญหาหนี้จำนวนมาก แผนในปี 66 จึงต้องการเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน หวังลดการชำระหนี้ของประชาชนธนาคารต้องรู้จักลูกหนี้ของตนเอง ต้องเคาะประตูบ้านเพื่อเจรจาเชิงรุก นับเป็นนโยบายของกระทรวงคลัง และยังเดินหน้าทางด่วนแก้หนี้ ระหว่างคลัง-แบงก์ชาติ โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัด KPI เพื่อบรรจุในแผนทำงานของพนักงานและแบงก์รัฐ หวังแก้ปัญหาหนี้ให้กับประชาชน รวมไปถึงการเติมทุนใหม่ให้กับผู้จำเป็นต้องประกอบอาชีพ
หลังจากกระทรวงการคลังได้ร่วมกับ ธปท. จัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ในรูปแบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 มีผู้ลงทะเบียนขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ 188,739 ราย รวมยอดสะสม 413,780 รายการ จากนั้นได้จัดงานรูปแบบสัญจรทั้งในกรุงเทพมหานครและ 4 ภูมิภาค รวม 5 ครั้ง ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดชลบุรีและจังหวัดสงขลา มีประชาชนและผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน 34,000 รายการ มูลหนี้ 24,000 ล้านบาท โดยมีการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิมให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง การสร้างรายได้ผ่านการสร้างอาชีพหรืออาชีพเสริม รวมทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนด้วยการส่งเสริมทักษะการประกอบอาชีพเพื่อให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอและมั่นคง พร้อมสร้างความตระหนักรู้การบริหารจัดการด้านการเงินอย่างถูกต้องด้วย
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า กล่าวว่า ผลการจัดมหกรรมฯ รูปแบบออนไลน์ มีผู้ลงทะเบียนขอแก้ปัญหาหนี้ 188,000 ราย หรือจำนวนหนี้หลายประเภท 413,000 รายการ แก้ไขสำเร็จ12,000 ล้านบาท จำนวน 50,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นหนี้บัตรเครดิต และหนี้สินเชื่อบุคคล โดยเป็นลูกหนี้ติดต่อไม่ได้1 แสนราย ไม่เข้าเงื่อนไข 1 แสนราย คงเหลือหนี้ที่ต้องช่วยเหลือ 1.5 แสนราย หลังจากนี้ต้องการเดินหน้าหรือเปิดลงทะเบียนผ่านออนไลน์ทางด่วนแก้หนี้เพิ่มเติม ธปท.จัดช่องทางช่วยเหลือให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้ผ่านทางด่วนแก้หนี้ ทางออนไลน์ สำหรับผู้ตัดต่อกับเจ้าหน้าที่ไม่ได้ แต่ยังไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ อีกผ่านช่องทางหมอหนี้เพื่อประชาชน เพื่อแก้ปัญหาครบวงจร
กระทรวงการคลังและ ธปท. ยังเดินหน้าช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี 2566 การจัดช่องทางเสริมเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1)ทางด่วนแก้หนี้ ซึ่งเป็นช่องทางออนไลน์สำหรับประชาชนที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้ 2)หมอหนี้เพื่อประชาชน เป็นช่องทางให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้ครบวงจร และ 3)คลินิกแก้หนี้ ที่เป็นช่องทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียจากบัตรเครดิตบัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน นอกจากนี้ ธปท. เผยแพร่เอกสารทิศทาง (Directional Paper) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพื่อสื่อสารแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน รวมทั้งช่วยให้ทุกภาคส่วนเห็นทิศทางการดำเนินงานในระยะต่อไปและสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้นด้วย
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า แบงก์รัฐร่วมแก้ปัญหาหนี้เดิม 10,000 ราย มูลหนี้ 9,600 ล้านบาท และกลุ่มเติมทุนเพิ่ม 1 แสนราย วงเงิน 3,100 ล้านบาท กลุ่มเข้ามาให้คำปรึกษา หาความรู้เพิ่มเติม และสร้างอาชีพใหม่ 13,200 ราย วงเงิน 2,900 ล้านบาท ในช่วงดอกเบี้ยแนวโน้มสูงขึ้น แบงก์รัฐพยายามดูแล ยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ออกไปให้นานที่สุด สำหรับกลุ่มแก้หนี้เสีย เมื่อกระทรวงการคลังให้เร่งเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มสีฟ้าตามแนวทางแบงก์ชาติ หวังช่วยเหลือในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ยอมรับว่า ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น หากมีรายได้เท่าเดิมวงเงินสินเชื่ออาจได้รับน้อยลง แบงก์รัฐทุกแห่งพร้อมดูแลลูกหนี้ เมื่อคลังใช้ระบบ KPI เข้ามาเป็นตัวชี้วัดผลดำเนินงานทั้งพนักงานและระดับองค์กร.-สำนักข่าวไทย