รัฐสภา 17 พ.ค. – กรธ.เปิดเวทีรับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ให้จัดกลุ่มส.ว.เพื่อความหลากหลาย เน้นประชาชนมีส่วนร่วม
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) โดยรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อคิดเห็นต่าง ๆ ไปประกอบการพิจารณาจัดทำกฎหมายลูกให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ ประธานอนุกรรมการพิจารณาศึกษาหลักการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. กล่าวว่า ที่ผ่านมาวุฒิสภาถูกมองว่าเป็นสภาพี่เลี้ยง มีอำนาจถอดถอน แต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีแนวคิดให้เป็นสภาเติมเต็มมากว่าสภาพี่เลี้ยง โดยการกำหนดให้นำบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาช่วยขับเคลื่อนประเทศ รวมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศและงานด้านอื่น ๆ
นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร อนุกรรมาธิการฯ กล่าวถึงประเด็นการแบ่งกลุ่มของส.ว.ว่า มี 2 ประเด็นที่กำหนดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 107 คือกำหนดให้จัดกลุ่มตามความรู้ ความเชี่ยวชาญตามอาชีพ เพื่อรองรับความหลากหลายของสังคม ขณะที่อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญและเป็นหลักคือการแบ่งกลุ่มต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทั้งนี้ อนุกรรมการได้มองในหลากหลายแง่มุมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 4 ภาค จึงได้มาเป็น 20 กลุ่มที่มีความหลากหลายทางสังคม อาทิ กลุ่มด้านการบริหาร ความมั่นคง กลุ่มลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน กลุ่มองค์กรชุมชนหรือภาคประชาสังคม รวมทั้งแต่ละกลุ่มต้องขยายความที่มาที่ไปให้มีความชัดเจนและต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
นายมนุชญ์ กล่าวว่า ส่วนกระบวนการรับสมัครต้องอยู่ภายใต้ 2 เงื่อนไขได้แก่ เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ส่วนการระบุว่าผู้รับสมัครจะอยู่ในกลุ่มใด ที่จะต้องรตรวจสอบเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบจะพิจารณาคุณสมบัติ ขณะที่ประเด็นการแนะนำตนเอง เสนอเน้นให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สมัครและให้ประชาชนได้รับรู้โดยต้องมีการจัดทำประวัติเพื่อแนะนำตนเอง
ขณะที่นายอนุมงคล ศิริเวทิน อนุกรรมาธิการฯ เห็นว่า การกำหนดให้ส.ว. มาจากการเลือกกันเอง เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้จะไม่สามารถการันตีได้ว่าจะปราศจากการทุจริตได้ทั้งหมด แต่เชื่อว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้ในขณะนี้ รวมทั้งการเลือกกันเองของกลุ่มต่าง ๆ จะทำให้ได้ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาขับเคลื่อนประเทศได้อย่างแท้จริง.-สำนักข่าวไทย