ทำเนียบ 31 ม.ค. – ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงปรับปรุงรายการและอัตราค่าธรรมเนียมการต่อใบอนุญาตเกี่ยวกับยา ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 31 ม.ค. 66 ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่… (พ.ศ. …) ออกตามความในพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงรายการและอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 26 (พ.ศ. 2537) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ที่มีผลบังคับอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ได้ปรับปรุงรายการและอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงฉบับที่ 26 (พ.ศ. 2537) ดังนี้ 1) ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมรายการพิสูจน์หรือวิเคราะห์ยาตามตำรับยาที่ขอขึ้นทะเบียน 2) แก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต โดยเป็นการลดจากเดิมที่กำหนดให้จัดเก็บเท่ากับอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตประเภทนั้น เป็นจัดเก็บเท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตประเภทนั้น
3) เพิ่มรายการค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา โดยมีอัตราเท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมสำหรับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาประเภทนั้น เพื่อให้การกำหนดรายการเก็บค่าธรรมเนียมและอัตราค่าธรรมเนียมสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 ซึ่งได้กำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับอายุและการต่ออายุของใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา
4) แก้ไขรายการค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับยาแผนโบราณให้หมายความถึงเฉพาะยาแผนโบราณสำหรับสัตว์ เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดกลไกการควบคุมและกำกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นการเฉพาะ ส่งผลให้ พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มีผลบังคับเฉพาะกับยาแผนโบราณสำหรับสัตว์
อย่างไรก็ตาม ตามร่างกฎกระทรวงฯ ยังคงอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสำหรับยาแผนปัจจุบัน ประกอบด้วย ใบอนุญาตผลิตยา ใบอนุญาตขายยา ใบอนุญาตส่งยา ใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาควบคุมอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จสำหรับสัตว์ และใบอนุญาตนำหรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้ามาในราชอาณาจักร
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประเมินผลจากการออกกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวนี้ ซึ่งได้มีการปรับลดค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตลงกึ่งหนึ่งนั้น จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 21.51 ล้านบาทต่อปี แต่การได้กำหนดเพิ่มค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาซึ่งจะจัดเก็บได้จากการต่ออายุใบสำคัญทุก 7 ปี จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มจากส่วนนี้ประมาณ 16.61 ล้านบาทต่อปี.-สำนักข่าวไทย