ชลบุรี 24 ม.ค.-“พลังชล” เปลี่ยนชื่อเป็น “พลังบูรพา” แต่งตัวพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง เลขาพรรค ยืนยันส่งผู้สมัครแน่นอน โวยวิชามารฝ่ายตรงข้ามโจมตี เชื่อประชาชนแยกแยะได้ ใครพูดจริง-ไม่จริง
นายสุระ เตชะทัต เลขาธิการพรรคพลังชล เปิดเผยถึงการประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่1/2566 ของพรรคพลังชล ว่า ที่ประชุมมีมติขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคพลังชล เมื่อปี พ.ศ. 2561 ให้ยกเลิกทั้งฉบับ และให้ใช้ข้อบังคับพรรคพลังบูรพา พ.ศ. 2566 แทน เพื่อให้เป็นแนวทางและหลักเกณฑ์ในการบริหาร และทิศทางแนวทางของพรรค เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายพรรคการเมือง ดังนี้ ข้อบังคับพรรค เรียกว่า ข้อบังคับพรรคพลังบูรพา พ.ศ. 2566 ให้ยกเลิกข้อบังคับพรรคพลังชล พ.ศ. 2561 ให้ใช้ข้อบังคับพรรคนี้ ตั้งแต่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่เป็นต้นไป และพรรคตามข้อบังคับนี้เรียกว่า พรรคพลังบูรพา ชื่อย่อ พบ. เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า PALANG BURAPHA PARTY ชื่อย่อว่า PB
นายสุระ กล่าวถึงสาเหตุในการเปลี่ยนชื่อพรรค ว่า เกิดจากการพิจารณาและคิดร่วมกันหลายๆ ฝ่าย และเห็นพ้อง คำว่า พรรคพลังบูรพา เพื่ออยากให้เห็นการขับเคลื่อนของพรรคในภาพที่กว้างขึ้น ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และความหมายของพรรคพลังบูรพา เป็นการรวมพลังความรัก ความสามัคคีของประชาชน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งภาคตะวันออก และพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยด้วย ทางพรรคพร้อมเปิดรับแนวคิดสมาชิกพรรค ผู้ที่จะมาร่วมอุดมการณ์ของพรรคจากประชาชนทุกพื้นที่ในประเทศ ให้มาช่วยกันขับเคลื่อนพรรค เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามถึงความพร้อมในการเลือกตั้งครั้งหน้าของพรรคพลังบูรพา จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งกี่เขต นายสุระ กล่าวว่า จากนี้ไปจะดำเนินกิจกรรมของพรรคในนามพรรคพลังบูรพา พรรคจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนจะส่งผู้สมัครกี่คน พื้นที่ใดบ้าง ต้องพิจารณาตามเหตุการณ์ และต้องนำไปปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง กรรมการบริหารพรรค เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับพรรค ที่จะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายต่างๆ เสียก่อน และขอย้ำอีกครั้งว่า พรรคพลังบูรพาจะส่งผู้สมัครทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่ออย่างแน่นอน
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา จ.ชลบุรี มีการแข่งขันดุเดือด มีการกล่าวหาโจมตีทางการเมือง ทางพรรคกังวลหรือไม่ นายสุระ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องปกติทางการเมือง ที่ได้ให้เห็นมาตลอด โดยความมุ่งหวังผู้โจมตีใส่ร้าย คงอยากจะให้ประชาชนสับสน ให้คล้อยตาม รู้สึกไม่ดีกับอีกฝ่าย แต่เมื่อมีการโจมตี หรือโกหกบ่อยครั้ง โลกเราทุกวันนี้ การสื่อสารตรวจสอบหาข้อมูล ที่มาที่ไป เป็นไปอย่างรวดเร็ว ประชาชนแยกแยะได้ มั่นใจว่า เขาไม่ยอมตกเป็นเหยื่อ หลงเชื่อต่อผู้ที่พยายามให้ข้อมูลเท็จกับพรรค หรือแม้แต่คนที่เคยมีบุญคุณด้วย
“เรื่องอะไรที่มันไม่จริง ไม่ว่าจะปล่อยข่าว แต่งเติม มโนหรือพูดกี่ครั้ง ก็คือความไม่จริง ขอให้จดหรือจำไว้ด้วยในเรื่องที่เคยพูดไม่จริง ไม่เช่นนั้นการพูดครั้งต่อไปอาจจะไม่เหมือนกับครั้งแรกก็ได้ เพราะโกหก มโนอยู่บ่อยครั้ง อาจจะหลงลืมไป เชื่อว่าประชาชนย่อมรู้ดีว่า อะไรเป็นเรื่องจริง หรือไม่จริง ใครพูดจริง ใครโกหก” นายสุระ กล่าว.-สำนักข่าวไทย