กรุงเทพฯ 20 ม.ค.-สถาบัน GIT จับมือสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม ผลักดันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยสู่ฮับการค้าการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับโลก
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โดย รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบัน ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการในการวิจัยและพัฒนาอัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า ด้วยการใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนด้านการวิจัย พัฒนาเทคนิคกระบวนการตรวจสอบ อัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการ ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย พร้อมยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่าให้ทัดเทียมในระดับสากล รวมถึงสนับสนุนการฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนบุคลากร และการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับงานวิจัย เพื่อพัฒนาทักษะ และขีดความสามารถของนักวิจัยอันเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อประเทศไทยในอนาคต โดยมีนายทนง ลีลาวัฒนสุข รองผู้อำนวยการ (เทคนิค) ดร.ภูวดล วรรธนะชัยแสง หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พร้อมทั้ง ผศ.ดร.ศุภกร รักใหม่ หัวหน้าฝ่ายสถานีวิจัย นางระวีวรรณ เลิศสุขสมบัติ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจองค์กร สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นสักขีพยานในการลงนาม
นอกจากนี้ ภายในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ยังจัดให้มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “แนวทางการดำเนินการวิจัยด้านอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศ” โดยนายทนง ลีลาวัฒนสุข รองผู้อำนวยการ (เทคนิค) และ ดร.ภูวดล วรรธนะชัยแสง หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ และเรื่อง “การประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนกับงานวิจัยทางด้านอัญมณี” โดย ดร.ชาตรี ไสยสมบัติ รักษาการผู้จัดการระบบลำเลียงแสงที่ 7.2
ทั้งนี้ GIT ได้ดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับในทุกมิติ เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ด้วยการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการตรวจสอบสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ก็มีพันธกิจในการวิจัย ให้บริการ ส่งเสริมและถ่ายทอดการเรียนรู้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนและการใช้ประโยชน์ สร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น การลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ จะเป็นการบูรณาการในเชิงขีดความสามารถและสมรรถนะของทั้ง 2 หน่วยงาน ในการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญโลกได้อย่างแน่นอน.-สำนักข่าวไทย