กรุงเทพฯ 15 ม.ค.- กสทช. จัดประมูลสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ผลปรากฏว่า มีการประมูลข่ายงานดาวเทียม 3 ชุด จากที่จัดไว้ 5 ชุด มูลค่ารวมกว่า 800 ล้านบาท ย้ำประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาต ส่วนอีก 2 ชุดจะประชุมกำหนดแนวทางหาผู้ดำเนินการเพื่อป้องกันการถูกตัดสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมจาก ITU
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดประมูลสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) โดยมีผู้เข้าร่วมประมูล 3 รายที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ ประสบการณ์ และความสามารถทางด้านการเงินได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) และ บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด
สำหรับชุดข่ายงานดาวเทียม (package) ที่นำมาประมูลมี 5 ชุด 7 ตำแหน่งหรือจำนวนไฟลิ่ง 12 ไฟลิ่ง จากที่ประเทศไทยมีทั้งหมด 20 ไฟลิ่ง โดยชุดที่ 1 มี 2 ตำแหน่ง ราคาขั้นต่ำ 374,156,000 บาท ขั้นราคา (ประมูล) 18,700,800 บาท ชุดที่ 2 ราคาขั้นต่ำ 360,017,000 บาท ขั้นราคา (ประมูล) 18,000,580 บาท ชุดที่ 3 มี 2 ตำแหน่ง ราคาขั้นต่ำ 397,532,000 บาท ขั้นราคา (ประมูล) 19,876,600 บาท ชุดที่ 4 ราคาขั้นต่ำ 8,644,000 บาท ขั้นราคา (ประมูล)432,200 บาท และชุดที่ 5 ราคาขั้นต่ำ 189,385,000 บาท ขั้นราคา (ประมูล) 9,469,250 บาท
ทั้งนี้ได้เปิดการประมูลทีละชุด โดยมีลำดับการประมูลจากข่ายงานดาวเทียมชุดที่ 4 ชุดที่ 3 ชุดที่ 5 ชุดที่ 2 และ 1 ตามที่ได้จับฉลากไว้ ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องตัดสินใจตามระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละรอบ รอบละ 20 นาที ด้วยการเคาะซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นครั้งละ 5% ของราคาขั้นต่ำ โดยผู้ชนะคือ ผู้ให้ราคาสุดท้าย ผู้เข้าร่วมประมูลจะไม่ทราบว่า ผู้ร่วมแข่งขันรายใดต้องการสิทธิวงโคจรชุดใดและมีความต้องการกี่ชุด รวมทั้งลำดับชุดในการการประมูลนั้น โดยการประมูลเริ่มต้นเวลา 10.00 น. และได้สิ้นสุดลงในเวลา 11.36 น. ซึ่งใช้เวลาในการประมูลรวมทั้งสิ้น 1 ชั่วโมง 36 นาที โดยไม่รวมเวลาหยุดพักการประมูล
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรรมการกสทช. และรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ได้แถลงผลการประมูลว่า บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัดชนะการประมูลในชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 2 และ3 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูลชุดที่ 4 ส่วน 1 และ 5 ไม่มีผู้ยื่นความต้องการ โดยชุดที่ 2 เคาะ 2 รอบ ราคาสุดท้าย 380,017,850 บาท ชุดที่ 3 เคาะ 1 รอบ ราคาสุดท้าย 417,408,600 บาท ชุดที่ 4 เคาะ 1 รอบ ราคาสุดท้าย 9,076,200 บาท ทำให้ราคาประมูลชุดข่ายงานดาวเทียม 3 ชุดรวม 806,502,650 บาท
พลอากาศโทธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกสทช. เปิดเผยว่า การจัดประมูลสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก นับเป็นความสำเร็จในระดับหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาต ทำให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา แต่ด้านราคาและชุดข่ายงานดาวเทียมอีก 2 ชุดที่ไม่มีผู้สนใจนั้น เป็นไปตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและกลไกตลาด กสทช. มีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด รายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูล กสทช. จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด
ทั้งนี้ คณะกรรมการกสทช. จะเร่งประชุมเพื่อหาแนวทางหาผู้มาดำเนินการในวงโคจรในชุด 1 และ 5 ซึ่งยังไม่มีผู้สนใจประมูลเนื่องจากอาจถูกเพิกถอนสิทธิตำแหน่งวงโคจรจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้
ขั้นตอนจากนี้ไป คณะกรรมการกสทช. จะรับรองผลการประมูลใน 7 วัน ผู้ชนะการประมูลต้องชำระค่าใบอนุญาตงวดแรกใน 90 วัน งวดที่ 2 ใน 4 ปี และงวดที่ 3 ใน 6 ปี โดยรายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูล กสทช. จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด.-สำนักข่าวไทย