ทำเนียบฯ 10 ม.ค. – ครม. เห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 67 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท จัดสรรงบลงทุน 690,000 ล้านบาท ขาดดุล 593,000 ล้านบาท ลดลง 102,000 ล้านบาท นายกฯ กำชับให้เบิกจ่ายตามเป้าหมาย
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3,350,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณรายจ่ายปี 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.65 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.18 ประมาณการณ์รายได้ 2.757 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 267,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.72 เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 593,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 66 จำนวน 102,000 ล้านบาท ดุลการคลังต่อจีดีพีร้อยละ 3
สาระสำคัญงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ประกอบด้วย
- รายจ่ายประจำ จำนวน 2,508,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 66 จำนวน 106,451 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ4.43 สัดส่วนร้อยละ 74.89 ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากงบประมาณปี 2566 ซึ่งมีสัดส่วน 75.43
- รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงค้าง 33,759 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 66 ซึ่งไม่ตั้งงบประมาณเอาไว้ จึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 100
- รายจ่ายลงทุน 690,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 66 จำนวน 520 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.08 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.60 ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปี 66 มีสัดส่วนร้อยละ 21.65
- รายจ่ายชำระคืนเงินต้น 117,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 66 จำนวน 17,250 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.25 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.50 ของวงเงินงบประมาณรวม
สำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่าย 3,350,000 ล้านบาท เท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567 – 2570) ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 สำหรับงบประมาณรายจ่ายงบลงทุนและงบประมาณรายจ่ายชำระเงินคืนต้นเงินกู้ มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐบาล พ.ศ. 2561 กำหนด โดยหลังจากนี้ จะเปิดให้ส่วนราชการ เสนอของบประมาณฯ ให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 27 มกราคม 2566
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่าในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรี ยังกำชับ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนให้มีการเบิกจ่ายรวดเร็วเพื่อ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งนำเทคโลโลยีมาปรับใช้ในการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในอนาคต.-สำนักข่าวไทย