กรุงเทพฯ 9 พ.ค.- ประธาน กรธ.เผย เผยแนวคิดร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ย้ำอำนาจการเตือนและยับยั้ง กรณีรัฐดำเนินนโยบายที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ ด้าน ผู้ว่า สตง. เสนอให้ระบุ ใน กม.ลูกให้ชัด เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวเปิดสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ การรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ตอนหนึ่งว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถือเป็นองค์กรอิสระที่พิเศษกว่าหน่วยงานอื่น ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของภาครัฐได้ทันที เมื่อเห็นสมควร โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้อง
นายมีชัย กล่าวว่า กรธ. ได้พิจารณาความเหมาะสมในการใช้กฎหมายใหม่ของ สตง.ว่า หากมีบุคคลที่ใช้งบประมาณของภาครัฐ มีความจริงใจในการใช้งบให้เกิดประโยชน์จริง แต่มีการทำผิดขั้นตอน จะทำอย่างไรที่ไม่ให้คนเหล่านี้ได้รับความผิด หรือผลกระทบที่ไม่เหมาะสม รวมทั้ง จะทำกฎหมายออกมาในลักษณะใด ที่ให้การตรวจสอบงบประมานของภาครัฐ ไม่ซ้ำซ้อนหน้าที่กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะจะเป็นอันตรายกับระบบราชการได้ในอนาคต
นายมีชัย กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดหน้าที่และอำนาจระหว่างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) กับ สตง. ให้มีความชัดเจน เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาการลักลั่นในการบริหาร และยังกำหนดให้หน่วยงานหรือองค์กรใด เข้ามาตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ สตง.ด้วย
นายมีชัย กล่าวว่า กรธ. ยังย้ำหลักการเพิ่มอำนาจให้ สตง. สามารถหารือกับ ปปช. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หากพบกรณีใช้เงินแผ่นดิน แล้วอาจเกิดการทุจริต หรือสร้างความเสียหาย เมื่อเห็นว่ามีโอกาสที่ความเสียหายจะเกิดขึ้น แม้จะไม่มีอำนาจบังคับ หรือดำเนินการตามกฎหมายทันที แต่สามารถแจ้งต่อรัฐบาล รัฐสภา และประชาชน ให้รับทราบ เพื่อเป็นการเตือนล่วงหน้า ให้รัฐบาลระมดระวังมากขึ้น
ด้าน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโลภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า ตามร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน จะตรวจสอบครอบคลุมถึงเรื่องเอาเงินแผ่นดินไปหาเสียง หรือ นโยบายประชานิยม เช่น การปฏิบัติราชการที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชน หรือมีประโยชน์ทับซ้อน ควรต้องส่งผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยพิจารณาร่วมกันกับ กกต.และ ป.ป.ช. มีพื้นฐานจาก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และระเบียบ สตง. ที่จะออกมา ซึ่งมีโทษทังวินัย แพ่ง และทางปกครอง
นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน เสนอให้กำหนดมาตรการในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้ชัด เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ยับยั้งกรณีที่รัฐดำเนินนโยบายที่ก่อให้เกิดผลเสีย หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ
“หากพบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินในลักษณะหาเสียง ที่ต้องแจ้ง กกต. อาจจะมีหน่วยงานอื่น หากพบมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และมีการระงับยับยั้งการใช้จ่ายเงินเชิงนโยบาย แล้วไปประชุมร่วมกับ กกต. และ ป.ป.ช. หากเห็นว่าการใช้จ่ายเงินของรัฐ ยังแต่จะทำให้เกิดความเสียหายของประเทศ จะต้องแจ้งไปยังสภาและครม. เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง ก็ต้องอยู่ในกฎหมายลูก” นายพิศิษฐ์ กล่าว
นายพิศิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ความเป็นองค์กรอิสระของ คตง.กับ สตง. ที่พูดถึงหน่วยงานธุรการในมาตรา 220 ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้มีหน่วยงานรับผิดชอบงานธุรการดำเนินอำนวยความสะดวกและรับผิดชอบต่อองค์กร อิสระ จึงเห็นว่าการทำงานของผู้ว่า สตง.ควรมีความเป็นอิสระ แม้จะมาจากการสรรหาโดย คตง. แต่ที่ผ่านมา การเดินทางตรวจสอบของผู้ว่า สตง. ยังมีขั้นตอนการขออนุญาต หรือขออนุมัติจาก คตง. จึงควรมีการปรับแก้ในส่วนนี้ .- สำนักข่าวไทย