กรุงเทพฯ 9 พ.ค.- ดร.สวัสดิ์ ให้การวกวนคดีฉ้อโกงเพื่อนอาจารย์ รับเหลือเงินคืนผู้เสียหายไม่ถึง 10% อ้างเอาเงินไปลงทุนอสังหาฯ หมุนเงินไม่ทัน
พลตำรวจโทฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แถลงผลคดีรองศาสตราจารย์สวัสดิ์ แสงบางปลา อายุ 79 ปี อดีตประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ข้อหาฉ้อโกงประชาชน มีพฤติการณ์หลอกลวงเพื่อนและอดีตอาจารย์ให้นำเงินไปร่วมลงทุนในสหกรณ์ลอตเตอรี่ มีผู้เสียหาย 78 คน มูลค่าความเสียหาย 541 ล้านบาท ก่อนรองศาสตราจารย์สวัสดิ์เข้ามอบตัวกองปราบปรามเมื่อวานที่ผ่านมา
โดยวันนี้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามประสานผู้เสียหายประมาณ 30 ราย เดินทางเข้าชี้ตัว พร้อมซักถามรองศาสตราจาย์สวัสดิ์ ถึงการคืนทรัพย์สิน พร้อมประสานเจ้าหน้าที่ ปปง. มาร่วมสอบสวนปากคำ เพื่อประเมินทรัพย์สินของผู้ต้องหาด้วย
เบื้องต้นรองศาสตราจารย์สวัสดิ์ยังให้การวกวนในรายละเอียด โดยอ้างว่านำเงินไปลงทุนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ปี 2553 โดยนำที่ดินในจังหวัดสระแก้วไปขาย แต่เงินไม่พอลงทุน จึงหลอกเงินผู้เสียหายมาหมุน โดยพยายามนำเงินจากผู้เสียหายรายใหม่ไปคืนให้ผู้เสียหายรายก่อนหน้า ทำให้มีผู้เสียหายเพิ่มจำนวนมาก จึงขอโทษผู้เสียหายทุกคน โดยยอมรับขณะนี้อาจคืนเงินให้ผู้เสียหายไม่ได้เต็ม 100% เพราะเงินที่ได้มาเหลือไม่ถึง 10% ของค่าความเสียหายทั้งหมด หรือเหลือประมาณ 50-80 ล้านบาท ส่วนที่เหลือนอกจากนี้คงต้องรอการการขายทอดตลาดทรัพย์สินของตนที่มีอยู่ พร้อมยืนยันคดีนี้ไม่เกี่ยวกับสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ
สำหรับกรณีที่มีการโอนเงินให้นางสาวพชกร คนมั่น สาวทอม มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท รองศาสตราจารย์สวัสดิ์ ยอมรับว่ามีการโอนเงินให้จริง แต่เพื่อเป็นการลงทุนในธุรกิจขายตรง ซึ่งภายหลังขาดทุน นางสาวพชกรจึงอ้างว่าจะขายที่ดินเพื่อนำเงินมาคืน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับเงินคืน พร้อมปฏิเสธเรื่องมีความความสัมพันธ์กับนางสาวภวิษย์พร ใบเกตุ ซึ่งเป็นผู้ต้องหารับโอนเงินจำนวนกว่า 40 ล้านบาท นอกจากนี้ยังยอมรับมีการเล่นการพนันจริงที่สิงคโปร์ โดยเสียมากสุดอยู่ในหลักแสนบาท แต่ไม่เคยเสียพนันเป็นหลัก 10 ล้าน อย่างที่ถูกกล่าวหา
พลตำรวจโทฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่ามีการหลอกให้ร่วมลงทุนโควตาลอตเตอรี่ซึ่งไม่มีอยู่จริง รวมถึงหลอกลวงว่านำเงินไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการติดตามทรัพย์สินคืนผู้เสียหาย ยอมรับว่าอาจจะติดตามยาก แต่จะพยายามติดตามคืนให้มากที่สุด โดยจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่ ปปง. สอบปากคำผู้ต้องหา เพื่อสอบถามเส้นทางการเงินและอายัดทรัพย์สิน ก่อนควบคุมตัวฝากขังศาลอาญาภายในวันนี้.-สำนักข่าวไทย