ธากา 27 ธ.ค.- เจ้าหน้าที่รัฐบาลบังกลาเทศเผยว่า บังกลาเทศพยายามหยุดยั้งชาวโรฮีนจาไม่ให้เสี่ยงชีวิตล่องเรือไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากมีความกังวลว่าปีนี้อาจมีชาวโรฮีนจาเสียชีวิตกลางทะเลมากที่สุดปีหนึ่ง
นายโมฮัมหมัด มิซานูร์ ราห์มาน กรรมาธิการบรรเทาทุกข์และส่งกลับผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศเผยว่า บังกลาเทศพยายามทำทุกอย่างเพื่อหยุดยั้งชาวโรฮีนจาไม่ให้เดินทางเสี่ยงอันตราย และจะตระเวนคุยกับแกนนำกลุ่มในค่ายผู้ลี้ภัยเพื่อให้เข้าใจถึงอันตรายของการเสี่ยงล่องเรือ ขณะที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย กองทัพเรือและหน่วยยามฝั่งได้เฝ้าระวังและจับกุมผู้ที่พัวพันกับการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ดี เขาคิดว่าชาวโรฮีนจาที่ออกไปเสี่ยงชีวิตกลางทะเลไม่ได้เดินทางออกจากบังกลาเทศทุกคน เพราะสถานการณ์ในเมียนมาเลวร้ายกว่าในค่ายผู้ลี้ภัยมากนัก
ชาวโรฮีนจาคนหนึ่งที่เคยเป็นแกนนำกลุ่มในค่ายผู้ลี้ภัยและเดินทางไปถึงมาเลเซียแล้ว แต่ได้กลับมาบังกลาเทศเพื่อมาอยู่กับน้องสาว 2 คน เผยว่า ชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัยไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้คนล้วนแต่สิ้นหวัง ขณะที่แกนนำชาวโรฮีนจาในบังกลาเทศ เผยว่า ชาวโรฮีนจาจำนวนมากพร้อมเสี่ยงชีวิตบนเรือของแก๊งค้ามนุษย์ เพราะท้อแท้กับชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัย และไม่มีหวังจะได้กลับบ้าน ชาวโรฮีนจาถูกทอดทิ้งจากประชาคมโลกที่ไม่สามารถกดดันบรรดานายพลในเมียนมา
ปัจจุบันมีชาวโรฮีนจาเกือบ 1 ล้านคนอาศัยอยู่ในบังกลาเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย หลายคนหลบหนีออกจากเมียนมาในปี 2560 เมื่อกองทัพยกกำลังขึ้นไปปราบปราม สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) ประเมินว่า ปีนี้มีชาวโรฮิงญาประมาณ 2,400 คนล่องเรือหรือพยายามล่องเรือไปยังประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เพิ่มขึ้น 5 เท่าจากปี 2564 ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าเหตุใดตัวเลขดังกล่าวจึงเพิ่มขึ้นมาก บางคนเชื่อว่า อาจเป็นเพราะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด.-สำนักข่าวไทย