กรุงเทพฯ 8 พ.ค. – คปภ.ต่อยอดความสำเร็จประกันภัยข้าวนาปี “ชงลดเบี้ย–เพิ่มความคุ้มครอง” พร้อมเดินสายให้ความรู้ด้านประกันภัยผ่าน Training for the Trainers
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลให้ความสำคัญปฏิรูปการประกันภัยพืชผล เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตและยกระดับรายได้ของเกษตรกรไทยนั้น ปี 2560 คปภ.ได้มีการหารือกับสมาคมประกันวินาศภัยไทยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจนได้ข้อสรุปที่เห็นตรงกันว่าจะมีการปรับลดเบี้ยประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 ให้ต่ำกว่าเบี้ยประกันภัยข้าวนาปีของปี 2559 ขณะที่ในส่วนของความคุ้มครองจะเพิ่มให้สูงกว่าเดิมและจะครอบคลุมความเสียหายจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้ว หรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุใต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ ตลอดจนความเสียหายจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด โดย คปภ.จะมีหนังสือถึงปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณานำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้เกษตรกรต่อไป
ทั้งนี้ ปี 2559 เกษตรกรทำประกันภัยข้าวนาปีรวมทั้งสิ้น 1.51 ล้านราย มีพื้นที่เอาประกันภัย 27.17 ล้านไร่ ในจำนวนนี้มีพื้นที่ประสบภัยทั่วประเทศ 624,770 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ประกาศภัยพิบัติ 620,229 ไร่ และพื้นที่ไม่ประกาศภัยพิบัติ 4,541 ไร่ มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 684.98 ล้านบาท
“การประกันภัยข้าวนาปีปีนี้ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากปีที่แล้ว และแม้ว่าปีที่แล้วจะมีระยะเวลาขายกรมธรรม์ให้กับชาวนาอย่างกระชั้นชิดในช่วงฤดูใกล้ทำนาแล้วก็ตาม แต่ด้วยความร่วมมือแบบบูรณาการทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือชาวนาอย่างจริงจัง ทำให้การประกันภัยข้าวนาปีสูงเป็นประวัติศาสตร์ถึง 27.17 ล้านไร่ สำหรับปีนี้มีการวิเคราะห์สภาพปัญหาปีที่แล้ว เพื่อแก้ไขและต่อยอดความสำเร็จ เชื่อว่าหากมีการเริ่มการดำเนินการเร็วขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาจะทำให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัวและเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” เลขาฯ คปภ. กล่าว
ทั้งนี้ คปภ.เดินหน้าขับเคลื่อนกลไกการประกันภัยพืชผล สร้างเครือข่ายกระจายความรู้ด้านการประกันภัย เพื่อต่อยอดช่วยเกษตรกรไทยสู้ภัยธรรมชาติผ่านโครงการอบรมความรู้ประกันภัย “Training for the Trainers” โดยปี 2560 มีกำหนดจัดอบรม 9 ครั้ง 9 จังหวัด ประเดิมจัดครั้งแรก จ.ขอนแก่น ต่อด้วยนครสวรรค์ สุโขทัย ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด สกลนคร และสงขลา ตามลำดับ ซึ่งหวังว่าผู้เข้ารับการอบรมจากโครงการดังกล่าวจะได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานและขยายผลไปถึงเกษตรกร ชาวนา ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในการปฏิรูปประกันภัยพืชผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.-สำนักข่าวไทย