กรุงเทพ 22 ธ.ค.- 133 องค์กรยื่นหนังสือถึง รมว.พลังงาน เรียกร้องเร่งแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ย้ำทวงคำตอบหลังปีใหม่แล้ว ด้าน กกร.ระบุกระทบการลงทุน นัดแถลงข่าวพรุ่งนี้
วันนี้(22ธ.ค.65 ) ที่กระทรวงพลังงาน 133 องค์กร นำโดย สภาองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายสิ่งแวดล้อม เครือข่ายไฟฟ้า ประปาและยา เพื่อชาติและประชาชน สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทยและสหาภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(สร.กฟผ.) ยื่นหนังสือ ถึงนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงตามเจตนารมณ์ของกฏหมายรัฐธรรมนูญ โดยเสนอ 5 แนวทางหลัก และระบุจะกลับมาขอรับคำตอบถึงแนวทางดำเนินงานหลังปีใหม่ภายในเดือนมกราคม 2566
ข้อเสนอ 5 ข้อได้แก่ 1. ขอให้ตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) กับผู้ใช้ไฟทุกภาคส่วนทั้งครัวเรือน ธุรกิจและภาคเกษตรกรรม 2. ขอให้หยุดอนุมัติโรงไฟฟ้าเอกชนใหม่ทั้งหมดทั้งในประเทศและการนำเข้าจาก สปป.ลาว ซึ่งขณะนี้ไฟฟ้าล้นระบบทำให้สัดส่วนการผลิตของรัฐน้อยกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง3.ให้รัฐบริหารจัดการต้นทุนก๊าซธรรมชาติโดยให้ บมจ.ปตท.จัดหาและจำหน่ายให้รัฐวิสาหกิจด้วยกันเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน 4.ทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เอื้อเอกชนลักษระมีค่าความพร้อมจ่ายภายใต้เงื่อนไข “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” และ5.เร่งสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน(โซลาร์รูฟท็อป) และใช้ระบบการคิดค่าไฟแบบหักลบกลบหน่วย(Net Metering) ในการรับซื้อไฟส่วนเกินจากเหลือใช้งาน
น.ส.รสนา โตสิตระกูล คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภคกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สภาฯ ได้เคยยื่นหนังสือถึงกระทรวงพลังงานให้เร่งแก้ไขปัญหาค่าไฟแพงตั้งแต่มี.ค.65 แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ค่าไฟฟ้า Ft ขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและปี2566 ค่าไฟเฉลี่ยรวมจะสูงขึ้นเป็น 5-6 บาทต่อหน่วย เป็นความเดือดร้อนของคนทั้งประเทศจึงต้องการให้รัฐแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุที่ต้องหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ได้เสนอนายกรัฐมนตรีแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงซึ่งหากนายกฯหารือกับเอกชน ทางเครือข่ายฯก็อยากจะพบนายกฯเพื่อร่วมให้ข้อมูลเช่นกัน อาจจะต้องเข้าไปพบเช่นกัน
นายชุมพล ชูมงคล เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(สร.กฟผ.)กล่าวว่าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.ถูกจำกัด โดยให้เอกชนผลิตแทน จนทำให้สัดส่วนการผลิตของกฟผ.เหลือไม่ถึง 51% ตามรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 51 ซึ่งประเด็นดังกล่าวขณะนี้กำลังรอการพิจารณาจากศาลรัฐธรรมนูญ โดยกำลังผลิตของกฟผ.มีไว้เพื่อแบ่งเบาภาระราคาให้กับประชาชนแต่วันนี้กลับรัฐเอื้อให้กลุ่มทุนพลังงานเติบโตขึ้น ภาระค่าไฟฟ้าจึงตกกับประชาชน
ด้านคณะกรรมการร่วม ภาคเอกชน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย แจ้งเชิญสื่อมวลชน ร่วมแถลงข่าว วันพรุ่งนี้ (23 ธ.ค. ) โดยระบุว่าจากจารณาผลการคำนวณค่าไฟฟ้โดยอัตโนมัติ (Ft) ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอตามแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)เห็นชอบ ประจำงวดเตือนมกราคม-เมษายน 2566
สำหรับผู้ใช้ฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่อัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นที่อัตรา 190.44 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งการคำนวณค่า Ft ตาม แนวทางนี้ ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยอยู่ในระดับเท่าเดิมที่อัตรา4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นจะมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วยนั้น ผลจาก การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงมากถึงสองงวดติดต่อกัน จะส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากพลังงานเป็นต้นทุนหลักของภาคการผลิตและภาคบริการ โดยเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อความสามารถการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่กำลังย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย .-สำนักข่าวไทย