กทม. 3 ธ.ค.-กรมการแพทย์แผนไทยฯ เร่งขับเคลื่อนความเข้าใจในการใช้ “กัญชา” ล่าสุดเผย ไตรมาสแรกเปิดเวทีเสวนาทุกสัปดาห์ หวังสร้างความเข้าใจทุกภาคส่วน เห็นคุณค่ากัญชา และใช้อย่างถูกต้อง
นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดประชุมวิชาการ “กัญชา” ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หรือ DTAM Forum กำหนดจัดทุกอาทิตย์ซึ่งเป็นวันจันทร์ หรือ วันอังคารในแต่ละสัปดาห์ เวลา 13.00-16.00 น.ของทุกสัปดาห์ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 – เดือนธันวาคม 2565 ในรูปแบบไฮบริด คือ ออนไซด์และออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์ ให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชาในแง่มุมต่างๆที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้ป่วย ประชาชน และ ผู้ประกอบการมีข้อมูลที่มากพอในการที่จะนำไปใช้ประโยชน์ การจัดประชุมและเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ วันจันทร์ที่ 21 พ.ย.65 เรื่อง “การใช้กัญชาไทยในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง กรณีศึกษา มะเร็งต่อมลูกหมาก ระยะที่ 4”, วันจันทร์ที่ 28 พ.ย.65 เรื่อง “การใช้และส่งเสริมกัญชาเพื่อเศรษฐกิจ ในประเทศและต่างประเทศ, วันอังคารที่ 6 ธ.ค.65 เรื่อง “กัญชา ภูมิปัญญาไทย ในการดูแลสุขภาพ”, วันอังคารที่ 13 ธ.ค.65 เรื่อง “งานวิจัยกับการใช้กัญชาในการดูแล สุขภาพ”, วันจันทร์ที่ 19 ธ.ค.65 เรื่อง “เส้นทางกัญชาไทยสู่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของโลก และวันจันทร์ที่ 26 ธ.ค.65 เรื่อง“การใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมรักษา เพื่อลดความรุนแรงของผู้ติดยาเสพติด” สำหรับท่านใดที่สนใจ สามารถเข้าร่วมรับฟังการเสวนาได้ที่ ห้องประชุม สุวรรณพฤกษ์ อาคาร 1 ชั้น 1 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จ.นนทบุรี และสามารถรับชมการถ่ายทอดสดได้ทาง facebook Live กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ในส่วนการผลักดันกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ทางกรมก็เร่งหาแนวทางดำเนินการให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2565 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “การใช้และส่งเสริมกัญชาเพื่อเศรษฐกิจ ในประเทศและต่างประเทศ (สาธารณรัฐมอลตาและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี)” ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ โดยเป็นการเล่าประสบการณ์ จากนักวิชาการ ผู้ประกอบการและ ผู้เกี่ยวข้อง เช่น ดร.ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผอ.กองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ เล่าประสบการณ์การใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ซึ่งเป็นประสบการณ์จากการประชุมวิชาการ MED-Can 2022 (สาธารณรัฐมอลตา) โดยกล่าวว่า มูลค่าตลาดกัญชาในยุโรป อยู่ที่ 12,000 ล้านดอลล่าร์ อยู่ตลาดสหรัฐอเมริกาสูงถึง 10,000 ล้านดอลล่าร์ และมีประเทศที่มีกฎหมายกัญชารองรับอยู่ประมาณ 10% สถานภาพผลิตภัณฑ์กัญชาในตลาดโลก แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเฉพาะ CBD (THC 0%) เป็นผลิตภัณฑ์ในประเทศที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย (กัญชายังเป็นยาเสพติด) กลุ่มที่ 2 เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ทางการแพทย์ พบในประเทศ ที่อนุญาตให้ใช้ได้ภายใต้การควบคุม พบมากกว่า 40 ประเทศ (ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มนี้) กลุ่มที่ 3 สามารถใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้ พบในประเทศที่เปิดกัญชาเสรีแบบเต็มตัว ได้แก่ อุรุกวัย จอร์เจียร์ แคนาดา แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกาใน 17 มลรัฐ นอกจากนี้ยังเล่าถึง หัวข้อสำคัญที่มีการพูดถึงใน MED-Can 2022 ดังนี้ 1) การใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศอังกฤษ จะต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่สั่งจ่าย จึงเกิดการเข้าถึงยากัญชาน้อย ทำให้เกิดการเรียกร้องให้แก้กฎหมายในอังกฤษ 2) การพัฒนาอุตสาหกรรมกัญชาให้เดินหน้าได้ ต้องทำความเข้าใจ ให้ความรู้ เพราะคนยังมีความรู้สึกว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ต้องพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการส่งออก ต้องมีระบบบริการจัดการไม่ให้คนใช้ในทางที่ผิด 3) ในอนาคตจะไม่มีเฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชา แต่จะมียากัญชาที่มีกระบวนการผลิต มีการระบุหลักการใช้ การออกฤทธิ์ มีงานวิจัยที่บ่งชี้ชัดเจน ขณะนี้มีทั้งรูปแบบยาพ่น ยาอม ยานอนหลับ 4) กัญชาถูกนำมาใช้ทางการแพทย์เป็นอย่างมากเพื่อการลดปวด ในยุโรปและอเมริกา และ 5) การลงทุนต้องรอตลาดให้โตทัน
ล่าสุด หลายประเทศในแถบเอเชียกำลังตื่นตัวในการส่งเสริมธุรกิจกัญชา กัญชง แต่ประเทศไทยได้เปรียบเพราะมีองค์ความรู้ที่แน่น มีตำรับยาแผนไทยเกี่ยวกับกัญชา เป็นประเทศแรกที่มีกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา ซึ่งเหล่านี้เป็นโอกาสที่สร้างเศรษฐกิจจากต่างประเทศ โดยเน้น Medical well-being นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Asian Cannabis Report กล่าวว่ากัญชามีโอกาสพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายทั้งสำหรับคนและสัตว์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน หากสินค้ามีคุณภาพและมีการวิจัยทางคลินิกรับรองจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสูงมาก
นายแพทย์ธงชัย กล่าวในตอนท้ายว่า จะเห็นว่าการจัดประชุมวิชาการดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นเวทีที่เปิดกว้างเพื่อให้สามารถนำประสบการณ์ องค์ความรู้ด้านกัญชาที่หลากหลายมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ในการต่อยอดทางภูมิปัญญา แต่ต้องเข้าใจว่า ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่อนุญาตการใช้เพื่อสันทนาการ ส่วนการนำเข้ากัญชาจะยอมรับเพียงบางประเทศ เฉพาะที่มีมาตรฐาน EU GMP ซึ่งในประเทศไทย/ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังไม่รับนำเข้า ดังนั้น ผู้ประกอบการในประเทศไทยต้องศึกษาข้อมูลและกฎหมายของประเทศที่จะส่งออกด้วย และทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเองจะเร่งขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์และเร่งสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการ และประชาชน อย่างต่อเนื่องต่อไป.-สำนักข่าวไทย