กรุงเทพฯ 21 พ.ย.-รมว.คมนาคม เผยเลขาธิการเวทีการขนส่งระหว่างประเทศ หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการพัฒนาการขนส่งที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวภายหลังนาย Young Tae Kim เลขาธิการเวทีการขนส่งระหว่างประเทศ (International Transport Forum: ITF) เข้าเยี่ยมคารวะและหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อนำไปสู่การกำหนดขอบเขตความร่วมมือที่เป็นไปได้ และการขอรับความร่วมมือทางวิชาการในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนในเอเชีย (Sustainable Infrastructure Programme in Asia: SIPA) ระหว่างกระทรวงคมนาคมและ ITF
ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม และ ITF นั้นจะเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและนานาชาติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกระทรวงฯ จึงได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยในอนาคตให้สามารถตอบสนองผู้ใช้บริการ และรองรับการเจริญเติบโตของประเทศ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีประสิทธิภาพ (Transport Efficiency) ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green and Safe Transport) และประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม (Inclusivity) พร้อมเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทั้ง 4 มิติ (ทางบก ราง น้ำ และอากาศ) รวมถึงการสนับสนุนประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียกลางในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันหารือ
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นต่าง ๆ ที่ได้มีการหารือในครั้งนี้ คือ
1. กรอบการดำเนินงานของ ITF ซึ่งเป็นเวทีหารือด้านนโยบายการขนส่งเพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน และส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของการขนส่งในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และการเข้าถึงการขนส่งอย่างเท่าเทียม
2. โครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของรัฐบาลไทย ได้แก่ 1) การจัดทำแผนการพัฒนาโครงการ
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองคู่ขนานไปกับโครงข่ายรถไฟทางคู่ (MR-MAP) ซึ่งเป็นระบบคมนาคมในอนาคตเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพ กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น 2) การพัฒนาถนนภายในประเทศที่สำคัญซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการเดินทางในอนาคต อาทิ การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) และโครงการทางพิเศษ พระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร 3) การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
4) การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาค 8 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่นพิษณุโลก อุดรธานี หาดใหญ่ และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในราคาที่เป็นธรรม และเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า 5) การพัฒนารถไฟความเร็วสูงระหว่างไทย – สปป.ลาว ในการพัฒนาท่าเรือเพื่อรองรับการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้า 6) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร
7) การพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางทะเลในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน ที่จังหวัดชุมพรและระนอง (Land Bridge) เพื่อเชื่อมโครงข่ายการขนส่งของประเทศและระหว่างประเทศทั้งทางถนน ทางรางและทางน้ำ ซึ่งจะช่วยให้เกิดแนวเส้นทางที่ตรง ลดระยะเวลาการเดินทางและลดต้นทุนค่าขนส่ง เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศจากการคมนาคมขนส่ง รวมถึงจะช่วยลดปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์พลังงานสะอาด ซึ่งขณะนี้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ได้มีนโยบายในการนำรถ เรือ และรถไฟพลังงานไฟฟ้าแทนการใช้พลังงานรูปแบบอื่น ๆ เพื่อให้คุณภาพอากาศในระบบการคมนาคมขนส่งของไทยดีขึ้น และช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ด้วย
3. ขอบเขตความร่วมมือที่เป็นไปได้ระหว่างกระทรวงคมนาคม และ ITF อาทิ โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนในเอเชีย (Sustainable Infrastructure Programme in Asia: SIPA) การพัฒนาแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านการขนส่งที่ดี รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนานโยบายด้านการคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน และได้มอบหมายให้ สนข. หารือร่วมกับผู้ประสานงานโครงการ SIPA ในการพิจารณาความพร้อมและความเป็นไปได้เพื่อสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการในโครงการ SIPA ต่อไป .-สำนักข่าวไทย