เชียงใหม่ 11 พ.ย.- “อนุชา” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จ.เชียงใหม่ ติดตามการขับเคลื่อนการยกระดับสหกรณ์เป็นผู้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามนโยบายรัฐบาล คทช. ที่ประสบความสำเร็จ พร้อมชูเป็นต้นแบบการจัดการที่ดินทำกินและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนแม่ทา ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามการขับเคลื่อนการยกระดับสหกรณ์เป็นผู้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ซึ่งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแห่งนี้ มีเนื้อที่ 7,282 ไร่ โดยกรมป่าไม้อนุญาตให้ราษฎรเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยได้ ซึ่งกลุ่มสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทาผ่านเกณฑ์ความเข้มแข็งของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และถูกยกระดับสหกรณ์เป็นผู้รับอนุญาต ที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ ส่งผลให้มีราษฎรได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 1,374 ราย ที่ดินทำกิน 2,693 แปลง และได้สมุดประจำตัว 2,086 เล่ม
นอกจากนี้ ยังได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ปัจจุบันมีสมาชิก 697 ครัวเรือน ทุนดำเนินการประมาณ 6 ล้านบาท เน้นส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ บนพื้นที่ 400 ไร่ สามารถให้ผลผลิตได้ประมาณ 300 ตัน เป็นมูลค่า 12 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการบริหารจัดการที่ดินและการรวมตัวของสหกรณ์ที่มีผลสำเร็จที่เป็นแบบอย่างแก่พื้นที่อื่นได้ต่อไป
จากนั้น นายอนุชา ลงพื้นที่ไปดูแปลงเกษตรตัวอย่างที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินและประสบความสำเร็จในการดำเนินการตามโครงการ คทช. เกษตรกรผู้ที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน บอกว่าหลังจากได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินและหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ตามที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ปัจจุบันสามารถปลดหนี้ได้และมีรายได้มาดูแลครอบครัวได้ คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น จนนำไปสู่การรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ เพื่อพัฒนาให้เป็นขุมชนที่เข้มแข็ง คนในชุมชนสามารถพึ่งพาอาศัยกันได้อย่างยั่งยืน
นายอนุชา กล่าวว่า ดีใจที่ได้เห็นความสำเร็จ และถือเป็นตัวอย่างการดำเนินการของ คทช.ที่ส่งเสริมในเรื่องที่ดินทำกินให้ราษฎรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งหวังให้พื้นที่สหกรณ์แม่ทานี้เป็นตัวอย่างในการศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้ให้พื้นที่อื่น จนกลายเป็นความยั่งยืนในที่ดินทำกินของคนไทยทั่วประเทศได้ต่อไป.-สำนักข่าวไทย