บึงกาฬ 28 ต.ค.-นายกฯ เป็นประธานร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) หวังเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมขยายการค้าการลงทุน ส่งผลถึงการส่งสินค้าไปตลาดจีนตอนใต้ เปิดเส้นทางท่องเที่ยว 3 ประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางจากกรุงเทพมหานคร ไปยังบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 เพื่อเป็นประธานร่วมในพิธีวางศิลาฤกษ์ (Groundbreaking Ceremony) โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ณ จังหวัดบึงกาฬ ประเทศไทย โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมคณะ
นายกรัฐมนตรีพบปะประชาชนที่มาร่วมในพิธี โดยกล่าวทักทายประชาชน พร้อมขอบคุณชาวบึงกาฬทุกคน ยินดีที่เห็นบ้านเมืองสงบเรียบร้อย เข้าใจดีว่าทุกวันนี้ยังมีปัญหาอยู่บ้าง รัฐบาลพร้อมดูแลและให้ความช่วยเหลืออย่างรอบด้าน ทั้งด้านอาชีพ ชีวิตความเป็นอยู่ การบริหารจัดการน้ำ รวมถึงระบบน้ำ
“ยินดีที่ได้มาวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ณ แขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในวันนี้ ขณะนี้กำลังพิจารณาเรื่องสะพานแห่งที่ 6 พร้อมจะช่วยเหลือ ดูแลชาวบึงกาฬ วันนี้เอาหัวใจ ความคิดถึง ความรักชาวกรุงเทพฯ มาด้วย ยืนยันว่าคนไทยจะไม่ทิ้งกัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
จากนั้น นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะได้ลงเรือข้ามแม่น้ำโขงไปยังบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 แขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อร่วมพิธีฯ ทั้งนี้ เมื่อการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) แล้วเสร็จ จะทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณด่านชายแดนฝั่งจังหวัดบึงกาฬและชายแดนฝั่งแขวงบอลิคำไซ เป็นอีกหนึ่งประตูการค้าสำคัญ ซึ่งจะมีส่วนกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับ สปป. ลาว ทำให้การขนส่งสินค้าจากไทยไปสู่ตลาดจีนตอนใต้คล่องตัวขึ้น โดยเฉพาะ “ยางพารา” ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดบึงกาฬ
อีกทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าจากไทยไปสู่ตลาดจีนตอนใต้ เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภาคกลางของสปป.ลาวสู่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังของไทย เพื่อส่งออกทางทะเลต่อไปยังภูมิภาคอื่น ๆ นอกจากนี้ สะพานมิตรภาพไทย – ลาว ยังช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนทั้งสองประเทศให้มีความใกล้ชิดและไปมาหาสู่กันได้สะดวกยิ่งขึ้น ถือเป็นการเพิ่มจุดเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ทั้งยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว เปิดเส้นทางท่องเที่ยว 3 ประเทศ “ไทย-ลาว-เวียดนาม” หลังจากที่การคมนาคมเชื่อมโยงถึงกันแล้วด้วย.-สำนักข่าวไทย