ก.ยุติธรรม 25 ต.ค. – คุ้มครองสิทธิฯ ยกระดับชุดคุ้มครองพยาน สร้างความเชื่อมั่นแก่พยาน รองรับหน่วยฝึกอบรมด้านการคุ้มครองพยานของประเทศ
นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมโครงการเพิ่มทักษะการคุ้มครองพยานสำหรับเจ้าหน้าที่สำนักงานคุ้มครองพยาน รุ่น 1-2 โดยมี พ.ต.ท.ธัญญะ ระย้า ผู้อำนวยการสำนักงานคุ้มครองพยาน กล่าวรายงาน และมีนางสุจิตรา แก้วไกร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พร้อมด้วยนายไพฑูรย์ สว่างกมล ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ และโฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และคณะผู้บริหารของกรมฯ ร่วมด้วย พล.ต.ณครสม เนาวบุตร ตุลาการพระธรรมนูญ กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ช. นายนภสิทธุ์ นาชัยพลอย ผู้ตรวจราชการ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กเยาวชน พ.ต.อ.พีรวุฒิ ปฤษณารุณ ผกก.กลุ่มงานตรวจสอบสำนวน 2 กองคดีอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.อ.กรธวัช สวัสดิ์โรจน์ รอง ผบก.รรท. รอง ผบก. ศพช. ศูนย์พัฒนาด้านการข่าว กองบัญชาการตำรวจสันติบาล พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายพิศิษฐ์ พัฒนกิจจำรูญ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการคุ้มครองพยาน เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด
สำหรับการจัดฝึกอบรมในครั้งนี้ กำหนดจัดขึ้น จำนวน 2 รุ่น ระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม -16 ธันวาคม 2565 เพื่อเพิ่มทักษะและความเชี่ยวชาญทางยุทธวิธีในการคุ้มครองพยานแก่พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคุ้มครองพยาน เพื่อให้มีความพร้อมรองรับภารกิจการคุ้มครองพยานตามนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล เช่น การคุ้มครองพยานในคดีค้ามนุษย์ การคุ้มครองพยานในคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ การคุ้มครองพยานในคดีทุจริต และการคุ้มครองพยานในคดีความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง
อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า สำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคุ้มครองพยานในคดีอาญา ตามมาตรการทั่วไปและมาตรการพิเศษ การปฏิบัติที่เหมาะสม และการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการจัดทำหลักสูตรและฝึกอบรมการคุ้มครองพยานให้แก่บุคลากรของหน่วยงานที่มีภารกิจการคุ้มครองพยาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ 2565 ดังนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคุ้มครองพยาน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นชุดคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่พยานจึงจำเป็นต้องมีทักษะระดับเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงาน เช่น ทักษะด้าน Officer Survival Tactics (O.S.T) , COMBAT L , CUT PIE, การตรวจค้น จับกุม ควบคุม, Basic Room Entry, CQB และต่อต้านการซุ่มโจมตีขบวนรถหรือ Anti ambush ในกรณีพาพยานไปเบิกความต่อศาล หรือนำพยานไปในสถานที่ต่างๆ เป็นต้น โดยมีทีมวิทยากรพิเศษเฉพาะด้านมาเป็นผู้ฝึกสอน
ด้านนายธีรยุทธ แก้วสิงห์ โฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า หัวใจสำคัญของการคุ้มครองพยาน คือ “ลับ ปลอดภัย รวดเร็ว” ที่ชุดคุ้มครองพยานถือเป็นแนวปฏิบัติสำคัญ เพื่อสร้างเชื่อมั่นให้กับพยานทุกคน เมื่อพยานเข้าสู่มาตรการคุ้มครอง สำนักงานคุ้มครองพยาน จะจัดเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครอง ดูแลความปลอดภัย ค่าใช้จ่ายเลี้ยงชีพ และสภาพจิตใจ รวมทั้งให้การช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาล การศึกษา การฝึกอาชีพ และการจัดหางาน หากพยานรายใดเมื่อสิ้นสุดการเป็นพยานและออกจากโครงการตามเกณฑ์แล้ว แต่ประสบปัญหาหรือได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพ ก็จะได้รับเงินดำรงชีพ ก้อนหนึ่ง เพื่อให้สามารถนำไปเป็นทุนประกอบอาชีพได้ ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด โดยที่ผ่านมาพยานที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดกว่า 3,000 ราย มีความปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย 100% และจำนวนกว่า 90% ของพยานที่ได้ให้ข้อเท็จจริงกับพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเบิกความต่อศาล สามารถพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดได้ ดังนั้น จึงขอให้พี่น้องประชาชนที่เป็นผู้ที่ให้ข้อมูลข้อเท็จจริง ผู้แจ้งเบาะแส หรือ เป็นผู้เสียหาย หรือเป็นพยานในคดีอาญา ได้ถูกข่มขู่คุกคามและรู้สึกไม่ปลอดภัย ทั้งตนเอง ครอบครัว ผู้ใกล้ชิด สามารถติดต่อขอรับการคุ้มครองพยานได้ที่ สำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หมายเลข 0614046056 , 0614046061 สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ หรือสถานีตำรวจทุกแห่งทั่วประเทศ หรือหน่วยงานที่มีภารกิจคุ้มครองพยาน “สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วนยุติธรรม โทร 1111 กด 77 ตลอด 24 ชั่วโมง”. -สำนักข่าวไทย