กระทรวงสาธารณสุข 22 ต.ค. – กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมมักพบพื้นที่น้ำท่วมขังยาวนาน ทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค แนะนำให้ประชาชนในพื้นที่เลือกใช้ EM หรือจุลินทรีย์ประสิทธิภาพ เพื่อบำบัดน้ำไม่ให้เน่าเหม็น และลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย
ยังประสบปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณอาคาร บ้านเรือน และตลาด ทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรค และยุง ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะเจ็บป่วยกับประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แนะนำให้นำ EM (Effective Microorganisms) หรือจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ มาใช้ป้องกันและบรรเทาสถานการณ์ปัญหาน้ำเน่าในพื้นที่เบื้องต้นก่อน ซึ่งอาจเลือกใช้ได้ทั้ง EM ball และ EM น้ำ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เพื่อไม่ให้น้ำที่ท่วมขังเกิดการเน่าเสีย และสามารถลดกลิ่นเหม็น รวมทั้งลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้
EM เหมาะสำหรับใช้กับน้ำนิ่ง น้ำขัง ห้ามใช้กับน้ำไหล เพราะจะไม่ได้ผลตามต้องการ สำหรับ EM ball กรณีน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ให้ใช้เพียง 1 ก้อนต่อพื้นที่ 5-10 ตารางเมตร ที่ความลึกของน้ำไม่เกิน 2 เมตร โดยใส่ 2-3 ครั้งต่อเดือน แล้วปล่อยทิ้งให้จุลินทรีย์ทำปฏิกิริยาต่อไป และกรณีน้ำท่วมภายในอาคาร บ้านเรือนที่พบน้ำเริ่มมีกลิ่นเหม็น และเน่าเสีย ให้ใช้ EM ball 1 ก้อนต่อพื้นที่ 2 -5 ตารางเมตร โดยใส่ 1 ครั้งต่อเดือน เพื่อเป็นการเร่งปฏิกิริยาของจุลินทรีย์ให้ดียิ่งขึ้น
“สำหรับ EM น้ำ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน โดยกรณีน้ำท่วมขังบริเวณกว้างพื้นที่ขนาดใหญ่ ให้เลือกวิธีการพ่นกระจายตัวจุลินทรีย์ให้ทั่วบริเวณที่ประสบปัญหา 20-80 ลิตรต่อพื้นที่น้ำท่วม 1 ไร่ ด้วยความลึกของน้ำท่วมไม่เกิน 1.5 เมตร และสำหรับกรณีน้ำท่วมถนน ตรอกซอยเป็นเวลานาน ให้พิจารณาจากลักษณะน้ำท่วมขังก่อน หากน้ำท่วมขังมีกลิ่นเหม็น น้ำเริ่มเน่าเสีย ให้เลือก EM สูตร 1 : 1,000 และกรณีน้ำยังไม่เน่าเสีย ไม่ส่งกลิ่นเหม็น ให้เลือก EM สูตรที่เจือจางกว่า เช่น 1 : 3,000 ทั้งนี้ ก่อนฉีดพ่น EM ต้องคำนวณขนาดพื้นที่น้ำท่วมขังก่อน เพื่อกำหนดปริมาณที่แน่นอน และเหมาะสมกับพื้นที่” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว . – สำนักข่าวไทย