กรุงเทพฯ 19 ต.ค.- กองปราบฯ รวบ “บอสเค” อดีตผู้บริหารบริษัททำโครงการร้านสะดวกซื้อ แยกตัวออกมาเปิดบริษัทใหม่ ชวนประชาชนร่วมลงทุน ผู้เสียหายกว่า 5,000 คน ความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท ผู้ต้องหายังให้การภาคเสธ ยืนยันไม่ได้เจตนาโกง แต่หยุดจ่ายชั่วคราว เนื่องจากหมุนเงินไม่ทัน
พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แถลงผลการจับกุมนายสิทธวีย์ อายุ 55 ปี ผู้บริหารบริษัทซุปเปอร์เค 2999 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง และนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ คดีนี้ผู้เสียหายเข้าแจ้งความกับตำรวจรถไฟธนบุรีว่า ได้สมัครเป็นสมาชิกโครงการร้านสะดวกซื้อสมาร์ทพลัส ศูนย์จังหวัดชัยภูมิ มีนายสิทธวีย์ เป็นผู้บริหารและเป็นผู้ประชาสัมพันธ์โครงการ เมื่อเดือนกรกฎาคม 64 โดยวิธีการลงทุนนั้นจะต้องทำการโปรโมทสินค้าในโครงการ ด้วยการซื้อสินค้า 1 ชิ้น ในราคา 1,200 บาท ครบ 7 วัน ผู้ซื้อจะได้รับเงิน 1,500 บาท ซึ่งจะได้กำไร 300 บาท/สินค้า 1 ชิ้น แต่หากเชิญชวนลูกค้าเข้าร่วมโครงการได้ ก็จะได้ผลตอบแทนมากยิ่งขึ้น ช่วงแรกได้รับเงินจริง ผู้เสียหายจึงหลงเชื่อเพิ่มยอดสั่งซื้อสินค้ากว่า 4 ล้านบาท ได้รับค่าตอบแทนจากการลงทุนถึง 600,000 บาท หลังจากนั้นเงินทุนและค่าตอบแทนก็หายเข้ากลีบเมฆ
จากการสืบสวนเชิงลึกพบว่า นายสิทธวีย์ แยกตัวจากบริษัท สมาร์ทพลัส เนื่องจากมีความขัดแย้งกับผู้บริหารในบริษัทสมาร์ทพลัส และออกมาตั้งบริษัทซุปเปอร์เค 2999 โดยนายสิทธวีย์ เป็นผู้บริหารเพียงผู้เดียว มีโครงการในบริษัททั้งสิ้นรวม 5 โครงการ ประกอบด้วย
- โครงการศูนย์กระจายสินค้า คือ ผู้สนใจจองเปิดร้านค้าสะดวกซื้อ
- โครงการตลาดนัด คือ เจ้าของสินค้านำมาขายในแพลทฟอร์ม
- โครงการแพลทฟอร์ม คือ การสร้างแอปพลิเคชั่น ฮัก เอสเค
- โครงการมาเก็ตติ้ง คือ ซื้อสินค้าแล้วได้สินค้าและเงินค่าโปรโมทประชาสัมพันธ์
- โครงการครอบครัวซุปเปอร์เค คือ ให้สมาชิกบริจาคเงินมาเป็นกองทุนสวัสดิการ
นายสิทธวีย์ มีพฤติการณ์การหลอกลวง โดยการตั้งกลุ่มไลน์ชักชวนให้ผู้เสียหายซื้อสินค้าแล้วได้ค่าโปรโมท ซื้อสินค้า 1 ชิ้น ราคา 1,200 บาท อีก 7 วัน ผู้ซื้อสินค้าจะได้รับเงินตอบแทน 1,500 บาท ซึ่งเป็นพฤติการณ์เดียวกันกับบริษัทสมาร์ทพลัส ในช่วงแรกที่ผู้เสียหายซื้อสินค้าจากบริษัทซุปเปอร์เค 2999 จะได้รับค่าโปรโมทสินค้าครบถ้วนตามที่ตกลง ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ เพิ่มยอดการสั่งซื้อสินค้าจากหลักพัน จนถึงหลักแสนบาท เพื่อหวังได้ค่าโปรโมทสินค้าจากบริษัท ปรากฏว่าในช่วงหลังของการสั่งซื้อสินค้าทางบริษัทหยุดจ่ายเงิน จนทำให้มีผู้เสียหายจากการสั่งซื้อสินค้าและการเข้าร่วมลงทุนกับบริษัท ทั้งนี้ มีประชาชนหลงเชื่อเข้าร่วมโครงการกว่า 5,000 คน ความเสียหายประมาณ 500 ล้านบาท
สอบสวนผู้ต้องหาให้การภาคเสธว่า ไม่ได้เจตนาโกง แต่เนื่องจากหมุนเงินให้ลูกค้าไม่ทัน จึงต้องหยุดจ่ายชั่วคราว.-สำนักข่าวไทย