กรุงเทพฯ 19 ต.ค.-“อนุทิน” เปิดประชุมวิชาการด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย National EMS Forum 2022 มุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรมการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอย่างมีประสิทธิภาพ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดประชุมวิชาการด้านการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 14 ประจำปี 2565 ในหัวข้อ “การวิจัยและนวัตกรรมการแพทย์ฉุกเฉิน” National EMS Forum 2022 : Research and Innovation on Emergency Medicine ซึ่งเป็นเวทีประชุมวิชาการ นำเสนอผลงาน และจัดนิทรรศการ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์นำไปสู่การขับเคลื่อนและพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในภาคส่วนต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ
นายอนุทิน กล่าวว่า ระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีความสำคัญมากต่อการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินตั้งแต่ก่อนมาถึงโรงพยาบาล เป็นปฏิบัติการที่ต้องประสานและร่วมงานกับหน่วยงานอื่น เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมาถึงโรงพยาบาลได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดการเสียชีวิต ความพิการ หรือภาวะแทรกซ้อนได้ โดยประเทศไทยมีการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการสังเคราะห์งานวิจัยด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ผ่านมา พบว่าผลงานวิจัยยังไม่ครอบคลุมต่อการนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งระดับนโยบายและการปฏิบัติงานในพื้นที่ มีข้อจำกัดทั้งนักวิจัยและการสร้างเครือข่ายที่ยังมีจำนวนไม่เพียงพอ ต่อการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้ไทยมีมาตรฐานระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับสากล ประชาชนเชื่อมั่นและผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับบริการอย่างมีคุณภาพทั่วถึงและเท่าเทียม โดยเป็นสังคมแห่งการรอบรู้ และเครือข่ายมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งได้นั้น การวิจัยและนวัตกรรมการแพทย์ฉุกเฉิน นับว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ที่จะได้มาซึ่งองค์ความรู้ แนวทาง เทคโนโลยี และนวัตกรรม นำสู่การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ในปี 2564-2565 สพฉ.มีงานวิจัยและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น ทั้งที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้าและดำเนินการโดยบุคลากรภายในสถาบันฯ และเครือข่ายวิจัย ซึ่งมีความโดดเด่น น่าสนใจ และนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในเชิงนโยบายและการพัฒนาระบบในระดับพื้นที่
การประชุมวิการครั้งนี้ เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การขับเคลื่อนและพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมพัฒนา และกระตุ้นให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ได้ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และนำองค์ความรู้ใหม่ๆ เผยแพร่สู่เวทีประชุมวิชาการระดับชาติ รวมทั้งสร้างเครือข่ายทางวิชาการ ต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศไทยมีมาตรฐานระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับสากล ที่ประชาชนเชื่อมั่นและผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับบริการอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง
ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ ทั้งรูปแบบการประชุมมีทั้งการบรรยาย การเสวนา การนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้วยรูปแบบ Tedx talk จากวิทยากรผู้มีความรู้ความสามารถ ในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน การนำเสนอและประกวดผลงานวิชาการประเภทโปสเตอร์ การจัดประชุมห้องย่อยจำนวน 2 ห้อง ได้แก่ ห้องนวัตกรรมบริการการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อการเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และห้องย่อยเรื่องนวัตกรรมระบบปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินดิจิทัล หรือ D1669.-สำนักข่าวไทย