มหาดไทย 12 ต.ค. – มท.1 สั่งการผู้ว่าฯ ปักษ์ใต้ เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยและคลื่นลมแรงในพื้นที่ พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ติดตามการคาดหมายลักษณะอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ช่วงครึ่งหลังของเดือนตุลาคม 2565 ร่องความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออกจะเลื่อนลงไปพาดผ่านบริเวณภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่น และอาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้ามาใกล้ประเทศไทยทางภาคตะวันออก และต่อเนื่องลงมาจนถึงอ่าวไทยตอนบนและภาคใต้ได้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในบางแห่ง สำหรับคลื่นลมจะมีกำลังแรงและคลื่นสูงในบางช่วง
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ สภาพอากาศ ปริมาณฝน สถานการณ์น้ำ และประเมินความเสี่ยงการเกิดอุทกภัย น้ำท่วมขัง และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจของจังหวัด พื้นที่ท้ายเขื่อน อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก และพื้นที่เชิงเขา เพื่อเป็นข้อมูลเตรียมความพร้อมและให้ความช่วยเหลือประชาชน พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น โดยให้ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แนวทางปฏิบัติตน และช่องทางการขอรับการช่วยเหลือเมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยในพื้นที่ ผ่านหอกระจายข่าวหมู่บ้าน/ชุมชน เสียงตามสายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วิทยุชุมชน สื่อสังคมออนไลน์ในทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง และย้ำเตือนหน่วยงานในพื้นที่ เตรียมพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้สามารถออกปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยได้ทันที
นอกจากนี้ ได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัด เน้นย้ำหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ ให้ความสำคัญในการดูแลความปลอดภัยพี่น้องประชาชนจากกรณีไฟฟ้ารั่ว โดยประสานการปฏิบัติกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตรวจสอบจุดเสี่ยงที่อาจเกิดอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว โดยเฉพาะจุดเสี่ยงอุทกภัยและเป็นพื้นที่ชุมชน หากพบมีกระแสไฟฟ้ารั่ว ต้องแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย และในช่วงที่มีน้ำท่วมขัง หากประเมินแล้วว่าประชาชนจะได้รับอันตราย ให้รีบตัดกระแสไฟฟ้าในทันที
พล.อ.อนุพงษ์ ยังกล่าวว่า ในกรณีพื้นที่ติดชายฝั่งและสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น บริเวณน้ำตก ถ้ำ ลำธาร ให้กำหนดมาตรการการแจ้งเตือน การปิดกั้น หรือห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่ในช่วงที่มีฝนตกหนักหรือตกหนักมากในพื้นที่ สำหรับพื้นที่ติดทะเล ชายหาดต่างๆ ให้กำชับสถานประกอบการ โรงแรมในพื้นที่ แจ้งให้นักท่องเที่ยวระมัดระวัง และห้ามลงเล่นน้ำในช่วงที่มีคลื่นลมแรง พร้อมทั้งนำเรือเข้าที่กำบัง และห้ามการเดินเรือช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเคร่งครัด
“ในด้านการเผชิญเหตุ ทันทีที่เกิดสาธารณภัยในพื้นที่ ให้จัดชุดปฏิบัติการโดยบูรณาการหน่วยงาน ทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ มูลนิธิ อาสาสมัคร เร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์ ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการดำรงชีพ การจัดตั้งโรงครัวพระราชทานประกอบอาหารเลี้ยงผู้ประสบภัย การแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และหากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรง ให้อพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้โดยทันที โดยให้ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุดปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เครือข่ายอาสาสมัคร และเชิญชวนประชาชนจิตอาสา เข้าดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด และหากต้องการขอรับความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสายด่วนนิรภัย โทร. 1784 หรือสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นให้ครบถ้วนทุกด้าน ทั้งด้านชีวิต ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร สิ่งสาธารณประโยชน์ สิ่งสาธารณูปโภค และให้การช่วยเหลือฟื้นฟูตามระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว. – สำนักข่าวไทย