กรุงเทพฯ 21 เม.ย.-ผ่านมาแล้วกว่า 2 เดือน กับโครงการนำร่องให้จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน หวังช่วยคนที่ไม่มีหลักทรัพย์ หรือคนที่ไม่มีเงิน เข้าถึงความยุติธรรมได้มากขึ้น
หญิงสาวรายนี้มารายงานตัวต่อศาลเป็นครั้งแรก หลัง 2 เดือนก่อน ถูกตำรวจจับกุมส่งศาลในคดีลักทรัพย์นายจ้าง เงิน 90,000 บาท คือ ราคาประเมินที่ศาลตั้งไว้ ในการขอประกันตัว มากเกินกว่าที่เธอและครอบครัวจะหาได้ทัน เธอทำใจยอมรับชะตากรรมถูกคุมขัง กระทั่งเจ้าหน้าที่ให้เข้าทดสอบแบบประเมินความเสี่ยง ในโครงการนำร่องของศาลยุติธรรม ที่ไม่ต้องใช้เงินหรือหลักทรัพย์ในการขอประกันตัว แต่ใช้หลักเกณฑ์ประเมินพฤติกรรม ทำให้เธอได้รับอิสรภาพ กลับไปอยู่กับครอบครัว ระหว่างรอการพิจารณาคดี
ศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็น 1 ใน 5 ศาลหลักทั่วประเทศ ที่นำร่องใช้หลักการประเมินความเสี่ยงในการปล่อยตัวชั่วคราว ในคดีที่มีอัตราโทษไม่เกิน 5 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ให้น้ำหนักการประเมินกับพฤติกรรมความเป็นไปได้ในการไม่หลบหนี อาชีพ หรือความสัมพันธ์ในชุมชนของจำเลย โดยไม่ต้องใช้เงินหรือหลักทรัพย์มาค้ำประกัน หวังช่วยให้คนจนหรือคนไม่มีเงิน ได้รับการปล่อยตัวระหว่างรอการพิจารณาคดีได้มากขึ้น
ข้อมูลจาก 5 ศาลยุติธรรมทั่วประเทศที่ร่วมโครงการ ล่าสุด มีอาสาสมัครที่ผ่านหลักเกณฑ์ประเมินความเสี่ยงไปแล้ว 143 คน และเมื่อครบกำหนดรายงานตัว มีเพียง 9 คน ที่ไม่มาตามนัด ในจำนวนนี้ 7 คนไม่มีเจตนาหลบหนี แต่ไม่มารายงานตัวต่อศาล เพราะยากจน ไม่มีแม้แต่ค่ารถที่เดินทางมารายงานตัว ข้อมูลทั้งหมดนี้กำลังถูกรวบรวมนำพัฒนาต่อยอดให้ครอบคลุมทุกการกระทำผิดในอนาคต
โครงการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ มีต้นแบบจากศาลยุติธรรมในสหรัฐ โดยเฉพาะในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่บังคับใช้อย่างได้ผลมานานกว่า 20 ปี ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัว หลบหนีเพียงร้อยละ 10 ซึ่งศาลยุติธรรมไทยกำลังนำมาเริ่มทดลองใช้บนความหวังให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นกับคนทุกชนชั้น.-สำนักข่าวไทย