กรุงเทพฯ 2 ต.ค. – ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด 49 จังหวัดที่จะมีการถ่ายโอน สอน. และ รพ.สต. ให้ปฏิบัติตามแนวทางบริหารการถ่ายโอน ตั้งแต่ก่อนถ่ายโอน ระหว่างถ่ายโอน และหลังถ่ายโอน ย้ำลงนามถ่ายโอนได้เมื่อ อบจ.มีความพร้อม มีการจ้างพนักงานกระทรวงและลูกจ้างต่อจากกระทรวงสาธารณสุข ไม่ให้เกิดผลกระทบการบริการประชาชนและตัวบุคลากร และให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจฯ กำกับ ติดตาม แก้ไขปัญหา ประเมินผลการดำเนินการ
วันนี้ (2 ตุลาคม 2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 49 แห่ง ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั้ง 49 จังหวัดที่จะมีการถ่ายโอน แจ้งแนวทางการบริหารการถ่ายโอน โดยร่วมมือกับ อบจ. เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน และดูแลบุคลากรสาธารณสุขให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงสนับสนุนช่วยเหลือแก้ไขปัญหา เพื่อให้การถ่ายโอนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ เมื่อได้รับมอบอำนาจจากปลัดกระทรวงแล้ว และเอกสารต่างๆ มีความพร้อมครบถ้วน ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลงนามถ่ายโอนได้ โดยเรื่องการจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุขและลูกจ้างเงินบำรุง ให้ประสาน อบจ.ลงนามรับรองการจ้างต่อเนื่องก่อน โดยในระยะเปลี่ยนผ่าน ให้สนับสนุนยา เวชภัณฑ์ หน่วยแพทย์ ออกให้บริการที่ รพ.สต.ที่ถ่ายโอน เพื่อลดผลกระทบการบริการประชาชน และให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจฯ กำกับ ติดตาม แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงรับข้อร้องเรียนต่างๆ
โดยแนวทางการบริหารการถ่ายโอน สอน. และ รพ.สต. ระดับจังหวัด แบ่งเป็น 1. ก่อนการถ่ายโอน ให้จัดทำและทบทวนแผนพัฒนาสุขภาพระดับจังหวัด เพื่อเสนอแนวคิดการจัดบริการภายในจังหวัด ชี้แจงเจ้าหน้าที่ให้ทราบขั้นตอน แนวทางปฏิบัติกรณีการถ่ายโอน สร้างการมีส่วนร่วม รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และจัดเตรียมข้อมูลเบื้องต้นเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ที่อาจเกิดผลกระทบต่อการจัดบริการหลังการถ่ายโอน 2. ระหว่างการถ่ายโอน ให้ตรวจสอบรายชื่อบุคลากร รายละเอียดบัญชีครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง เพื่อเตรียมการส่งมอบ กรณีมีข้อขัดข้องนำเสนอคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) เพื่อแก้ไข
โดยแนวทางการบริหารการถ่ายโอน สอน. และ รพ.สต. ระดับจังหวัด แบ่งเป็น 1. ก่อนการถ่ายโอน ให้จัดทำและทบทวนแผนพัฒนาสุขภาพระดับจังหวัด เพื่อเสนอแนวคิดการจัดบริการภายในจังหวัด ชี้แจงเจ้าหน้าที่ให้ทราบขั้นตอน แนวทางปฏิบัติกรณีการถ่ายโอน สร้างการมีส่วนร่วม รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และจัดเตรียมข้อมูลเบื้องต้นเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ที่อาจเกิดผลกระทบต่อการจัดบริการหลังการถ่ายโอน 2. ระหว่างการถ่ายโอน ให้ตรวจสอบรายชื่อบุคลากร รายละเอียดบัญชีครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง เพื่อเตรียมการส่งมอบ กรณีมีข้อขัดข้องนำเสนอคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) เพื่อแก้ไข สำหรับการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อรองรับการถ่ายโอนฯ ประชาสัมพันธ์เรื่องการเข้ารับบริการ และมีสายด่วนรับข้อเสนอแนะ/ปัญหาจากประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ถ่ายโอน 3. หลังการถ่ายโอน ให้มีการติดตามกำกับโดยยึดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการสาธารณสุขของ สอน./รพ.สต. จัดช่องทางรับข้อร้องเรียนการจัดบริการ และมอบหมายสาธารณสุขอำเภอเป็นหน่วยรับเรื่องร้องทุกข์ ปัญหาและอุปสรรคจากประชาชน/เจ้าหน้าที่
สำหรับศูนย์ปฏิบัติการเพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ให้ อบจ. มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นประธาน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นรองประธาน หัวหน้ากลุ่มงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ผู้แทนสาธารณสุขอำเภอ ผู้แทน รพ.สต. หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ และนิติกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร่วมกันเป็นกรรมการ โดยมีคณะทำงาน 4 ด้าน คือ ด้านวิชาการและติดตามประเมินผล ดูแลการถ่ายโอน วิเคราะห์ผลกระทบ, ด้านบริหารจัดการ ดำเนินการเกี่ยวกับการถ่ายโอนบุคลากร ครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง วิเคราะห์แก้ไขปัญหาการเงิน การคลัง การส่งต่อผู้ป่วย, ด้านกฎหมาย ให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมาย/ระเบียบเกี่ยวกับการจัดบริการสุขภาพ การประกอบวิชาชีพเวชกรรม และด้านสื่อสารประชาสัมพันธ์ จัดทำช่องทางสื่อสาร/คอลเซ็นเตอร์ ชี้แจงขั้นตอนการรับบริการ. – สำนักข่าวไทย