กรุงเทพฯ 27 ก.ย.-ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด กนง.พรุ่งนี้ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 1.00% ท่ามกลางแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี แตะ 37.89 บาท/ดอลลาร์ฯ ด้านกรุงไทย ประเมินเงินบาทผันผวนมีโอกาสแตะ 38 บาท/ดอลลาร์ฯ
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 28 ก.ย.ที่จะถึงนี้ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.00% ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 37.89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นระดับที่อ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี
กนง.คงจะยังทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้า ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว และยังคงเปราะบางจากหนี้ในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดย กนง.คงหลีกเลี่ยงที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแรง เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ กนง.คงมีมุมมองว่า การฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีนี้คงจะช่วยพยุงให้ค่าเงินพลิกกลับมาแข็งค่าได้บ้าง และน่าจะคงมุมมองว่าเสถียรภาพด้านอัตราแลกเปลี่ยนคงเป็นประเด็นระยะสั้น และยังพอมีเวลาที่จะติดตามสถานการณ์และเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินได้ในระยะข้างหน้า
หากในการประชุมที่จะถึงนี้ กนง.มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ตามคาด คงมีแรงกดดันให้ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อและเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และค่าเงินดอลลาร์ฯ รวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่จะส่งผลต่อแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม หากทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐยังคงไม่ลดลงอย่างชัดเจน และเฟดยังคงต้องเร่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องไปในการประชุมไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ค่าเงินบาทคงเผชิญแรงกดดันให้อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ และการพลิกภาพกลับมาแข็งค่าของค่าเงินบาทคงล่าช้าออกไปกว่าเดิม
“เงินบาทอ่อนค่าสอดคล้องกับค่าเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งปัจจัยกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่านั้นมาจากการที่ค่าเงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าอย่างมาก ซึ่งแตกต่างจากในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งมีที่มาจากปัญหาเรื้อรังของเศรษฐกิจภายใน และเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แม้ว่าเงินทุนสำรองของไทยจะปรับลดลงถึง 14.0% นับตั้งแต่ต้นปี แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยอยู่ที่ระดับ 2.38 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ก.ย.65) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 3.2 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ข้อมูล ณ ไตรมาส 1/65) ดังนั้น สถานการณ์ปัจจุบันไทยยังคงห่างไกลจากการเกิดวิกฤติดังเช่นวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540” รายงานระบุ
ด้านธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า เงินบาทอยู่ในฝั่งอ่อนค่าและอาจทดสอบโซนแนวต้าน 38.00 บาท/ดอลลาร์ฯ ในช่วงนี้ และการปรับลดลงของราคาทองคำและน้ำมันในตลาดโลก อาจทำให้มีโฟลว์ธุรกรรม Buy on Dip เข้ามากดดันเงินบาทอ่อนค่า จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุน เช่น ต่างชาติทยอยกลับเข้าตลาดหุ้นไทย หลังจากที่ดัชนี SET ปรับตัวลดลงใกล้โซนแนวรับสำคัญ.-สำนักข่าวไทย