โตเกียว 22 ก.ย. – นักวิจัยญี่ปุ่นคิดค้นวิธีการนำแมลงสาบมาติดตั้งอุปกรณ์สำหรับช่วยค้นหาผู้รอดชีวิตที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว โดยคาดว่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต
ดร. เคนจิโร ฟูกุดะ และทีมงานของสถาบันวิจัยริเคน (Riken) ของญี่ปุ่น สาธิตประโยชน์ที่ได้จากการติดตั้งแผ่นฟิล์มโซลาร์เซลล์และแผงอิเล็กทรอนิกส์บนหลังของแมลงสาบที่ช่วยให้นักวิจัยสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของแมลงสาบผ่านระบบรีโมตคอนโทรล แผ่นฟิล์มดังกล่าวมีความหนาเพียง 4 ไมครอน หรือราว 1 ส่วน 25 ของความหนาเส้นผมคน สามารถนำไปติดที่ตัวของแมลงสาบได้ แผ่นฟิล์มนี้จะทำให้แมลงสาบสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระในขณะที่แผงโซลาร์เซลล์จะสร้างพลังงานที่เพียงพอในการประมวลผลและส่งสัญญาณบอกทิศทางไปยังอวัยวะรับความรู้สึกที่อยู่บริเวณส่วนหลังของแมลงสาบ
ดร. ฟูกุดะและทีมงานได้เลือกแมลงสาบมาดากัสการ์มาใช้ในการทดลองครั้งนี้ เนื่องจากมีลำตัวใหญ่พอที่จะติดตั้งอุปกรณ์และไม่มีปีกที่เป็นอุปสรรคต่อการติดตั้ง ทั้งยังระบุว่า แม้แมลงสาบมาดากัสการ์จะมีแผ่นฟิล์มและแผงอิเล็กทรอนิกส์ติดอยู่บนหลัง แต่ก็ยังสามารถเดินผ่านสิ่งกีดขวางขนาดเล็กหรือกลับตัวขึ้นมาได้เมื่อพลิกหงาย ทั้งนี้ นักวิจัยสามารถถอดแผ่นฟิล์มและแผงอิเล็กทรอนิกส์ออกจากหลังของแมลงสาบได้ และปล่อยมันกลับไปใช้ชีวิตในระบบนิเวศในภาชนะใสในห้องปฏิบัติการได้ดังเดิมหลังเสร็จสิ้นภารกิจ. -สำนักข่าวไทย