กรุงเทพฯ 19 เม ย. – พพ.สรุปยอดติดตั้ง Solar rooftop เสรี รอบแรก 32.75 MW จากยอดเปิดรับ 100 MW เร่งปรับแผนกระตุ้นติดตั้งหวังลดโหลดไฟฟ้ากลางวัน
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงพลังงานเปิดให้ประชาชนและผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (solar rooftop) โดยไม่มีการรับซื้อไฟฟ้า แต่ฟรีค่าติดตั้งมิเตอร์ป้องกันไฟฟ้าย้อนกลับ ขณะนี้สรุปตัวเลขพบว่าในส่วนผลิตไฟฟ้าซึ่งเปิดให้สมัคร 100 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) พื้นที่ละ 50 MW แยกเป็นบ้าน 10 MW อาคารพาณิชย์ 40 MW นั้น พบว่าการสมัครเข้าร่วมโครงการต่ำกว่าเป้าหมาย โดยมีผู้สมัครรวม 32.75 MW เท่านั้น แยกเป็นพื้นที่ กฟน.ประเภทบ้าน 124 ราย รวม 0.5 MW, ประเภทอาคาร 105 ราย รวม 13.4 MW
ส่วนพื้นที่ กฟภ.ประเภทบ้าน 42 ราย รวม 0.15 MW, ประเภทอาคาร 87 ราย รวม 18.7 MW โดยการที่สมัครน้อยส่วนหนึ่งเมื่อไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าเหลือจ่ายและปกติบ้านเรือนอาศัยส่วนใหญ่กลับมาใช้ไฟฟ้าภาคกลางคืน ทำให้ติดตั้งแบบไม่ได้ขายไฟฟ้าได้ประโยชน์น้อย ดังนั้น พพ.อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดเพื่อติดตั้ง solar rooftop รอบใหม่รูปแบบที่สามารถจำหน่ายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบได้รวม 100 MW ซึ่งอาจจะส่งเสริมในอาคารพาณิชย์-โรงงาน ประมาณ 80-90 MW และบ้านที่อยู่อาศัยประมาณ 10-20 MW โดยกำหนดค่าไฟฟ้าในส่วนของบ้านสูงกว่าอาคารพาณิชย์ เพราะนิติบุคคลจะได้รับการส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่แล้ว
ทั้งนี้ อัตรารับซื้อไฟฟ้าจะไม่สูงกว่าค่าไฟฟ้าที่ค้าในระบบส่ง หรืออัตราที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำหน่ายแก่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เพื่อไม่ให้ผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) โดย พพ.ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาทั้งผลดีผลเสียของโครงการนี้ เพื่อนำมาประกอบการรับซื้อในโครงการใหม่ รวมถึงข้อเสนอเอกชนให้ขยายปริมาณรับซื้อในชุมชนให้สูงกว่าร้อยละ15 ของมิเตอร์ในพื้นที่
“Solar rooftop จะช่วยลดโหลดไฟฟ้าภาคกลางวันได้ จึงต้องปรับแผนจูงใจด้วยการรับซื้อ แต่ต้องดูไม่ให้เกิดปัญหาไฟฟ้าย้อนกลับจนส่งผลต่อระบบผลิตด้วย” นายประพนธ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย