กรุงเทพฯ 19 ก.ย. – 3 การไฟฟ้าลงขันรวม 30 ล้านบาท สร้างแพลทฟอร์มใหม่รับเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะ Solar Rooftop ด้าน กฟน.ขยายงานรุกบริการติดตั้ง Solar Rooftop สถาบันอาชีวศึกษาภาคใต้วงเงิน 200 ล้านบาท
นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ รองผู้ว่าการวิชาการและบริหารพัสดุ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงมีผลต่อระบบไฟฟ้าของประเทศ เช่น เรื่องการซื้อขายไฟฟ้าของภาคเอกชน ภาคประชาชน การขายไฟฟ้าเหลือใช้จากSolar Rooftop , Solar Farm ดังนั้น 3 การไฟฟ้าทั้ง กฟน. ,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง National Energy Trading Platform (NETP) หรือแพลทฟอร์มซื้อขายพลังงานแห่งชาติ เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการซื้อและขายไฟฟ้าระหว่างกัน โดยได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นผู้ศึกษาด้วยงบประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาจะเสร็จปี 2562
นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่จะรองรับตลาดการค้าเสรีพลังงาน Open Market ของรัฐบาล โดยยอมรับว่าการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันเองของภาคประชาชนหรือเอกชน แม้อาจจะกระทบต่อรายได้ของ กฟน.ในฐานะผู้จำหน่ายไฟฟ้าลดลงบ้าง แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบมาก เพราะน่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังจะมีรายได้จากการให้บริการสายส่งเข้ามาชดเชย รวมถึงอาจจะได้ซื้อไฟกลับคืนมาจากภาคเอกชนในราคาที่ถูกลงกว่าการซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตในปัจจุบัน ขณะเดียวกันประเทศจะมีการใช้พลังงานสะอาดเข้ามากขึ้นและประชาชนจะได้สามารถบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ล่าสุดวันนี้ (19 ก.ย.) กฟน.จัดพิธีลงนามสัญญาบริการอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคากับสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 และสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 3 รวม 17 วิทยาลัย กำลังผลิตรวม 2.6 MW เงินลงทุนระยะยาว 200 ล้านบาท โดยมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เป็นที่ปรึกษาโครงการ. – สำนักข่าวไทย