กรุงเทพฯ 22 ส.ค.- “รมช. มนัญญา” เปิดประชุมหารือระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรระบุ กรมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมย่อยนี้ โดยจะได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคโดยนำมาพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรและสร้างความมั่นคงทางอาหาร
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดการประชุมหารือระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร (HLPDAB) เอเปค (APEC High-Level Policy Dialogue on Agricultural Biotechnology: HLPDAB) ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพมหานคร โดยกล่าวต้อนรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งเป็นผู้แทนประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์
รมช. มนัญญากล่าวว่า การประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหรือ APEC ในปีพ.ศ.2565 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค โดยกรมวิชาการเกษตรเป็นเจ้าภาพประชมหารือระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทย เรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ตลอดจนนำนโยบาย 3S ความปลอดภัย (Safety) มั่นคง (Security) และความยั่งยืน (Sustainability) มาปฏิรูปการเกษตรและระบบอาหารด้วยเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตร
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวถึงวัตถุประสงค์ว่า เพื่อให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงหรือผู้กำหนดนโยบายด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคแลกเปลี่ยนข้อมูลความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนานโยบายสาธารณะเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปกป้องสิ่งแวดล้อมบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารซึ่งจะมีประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมากเนื่องจากต้องเร่งวิจัยและพัฒนาให้เท่าทันประเทศอื่นๆ ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร
สำหรับสาระสำคัญที่ประเทศไทยจะนำเสนอต่อที่ประชุมคือ “นโยบายตลาดนําการวิจัย” เพื่อนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาปฏิรูปภาคการเกษตร รวมถึงการสนับสนุนการวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูงได้แก่ การใช้เทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์พืชสกุลกัญชา กัญชง และกระท่อมให้มีสารสำคัญสูงสำหรับใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมการพัฒนาพืชพันธุ์ใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิต ปรับปรุงคุณภาพ ความทนทานโรค และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง อ้อย ทุเรียน มันฝรั่ง และเห็ด การพัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืช การใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูงและลดการสูญเสียอีกทั้งให้ความสำคัญเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึงการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่อย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบเพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตทางการเกษตร ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนสู่เป้าหมายความมั่นคงด้านอาหารในปี 2573 .-สำนักข่าวไทย