14 เม.ย. – ประเพณีสงกรานต์ไม่ได้มีเฉพาะในไทยและประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่ที่ประเทศอินเดียก็มีประเพณีคล้ายๆ กัน แต่เป็นการสาดสีเข้าใส่กัน แทนการสาดน้ำในเทศกาลโฮลี
เทศกาลสงกรานต์ของอินเดียที่เรียกว่า “โฮลี” ตรงกับวันที่ 15 ค่ำ เดือน 4 หรือราวๆ กลางเดือนมีนาคม คำว่า “สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า “ก้าวย่าง” ซึ่งในวัฒนธรรมอินเดีย หมายถึงการเปลี่ยนผ่านเวลาในรอบปีจากราศีหนึ่งสู่อีกราศีหนึ่ง ฉะนั้นในหนึ่งปีจะมีสงกรานต์ 12 ครั้ง แต่ครั้งสำคัญที่สุดก็คือเมื่อดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ถือว่าเป็นการ “ขึ้นปีใหม่” ตามคติฮินดู ที่นับวันตามสุริยคติ จึงมีชื่อเรียกเป็นพิเศษว่า “มหาสงกรานต์”
บางตำนานบอกว่า เทศกาลโฮลี คือการเฉลิมฉลองชัยชนะของพระกฤษณะ ในการปราบอสูรร้ายที่ชื่อว่า “โฮลิกา” ด้วยการเผาร่างของนางจนมอดไหม้ จึงได้มีการรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ด้วยการเผาสิ่งสกปรกออกจากบ้าน
นอกจากนี้โฮลียังมีความหมายถึงการสิ้นสุดไปของปีเก่า จากนั้นพระพรหมก็จะสร้างโลกใหม่ที่ดีกว่าเดิมในวันรุ่งขึ้น หลังจากวันเพ็ญโฮลิปูรณิมา เมื่อเป็นดังนี้ สิ่งที่ชาวอินเดียนิยมทำกันในช่วงเทศกาลโฮลีก็คือ การนำเอาสิ่งของสกปรกออกจากบ้านไปรวมกันไว้แล้วเผาทิ้ง ถือเป็นการกำจัดสิ่งไม่ดีออกไปจากชีวิต เพื่อก้าวเข้าสู่ปีใหม่
ในระหว่างเทศกาลนี้ผู้คนจะพากันเฉลิมฉลองร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน และสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการสาดสีเข้าใส่กัน เปรียบได้กับการเล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์ของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน การฉลองด้วยการสาดสีนี้เป็นคติความเชื่อที่ว่าเป็นการปัดเป่าเอาเชื้อโรคร้ายให้หมดสิ้นไปจากร่างกาย สีสันต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นสีที่ได้จากสมุนไพร และพืชพรรณตามธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคให้แก่ร่างกายได้ เพราะว่าในช่วงที่มีเทศกาลโฮลี เป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างฤดูหนาว และฤดูใบไม้ผลิในอินเดีย ซึ่งอาจทำให้ป่วยไข้ได้ง่าย
ส่วนวิธีการสาดสีของชาวอินเดียนั้นก็มีทั้งการสาดสีที่ผสมน้ำ และการซัดสีฝุ่นเข้าใส่กัน ขึ้นอยู่กับความนิยมของแต่ละท้องที่ การเล่นสาดสีนี้จะมีขึ้นตั้งแต่เช้าไปจนถึงเย็น จากนั้นผู้คนจะแยกย้ายกันกลับบ้าน ก่อนที่ในช่วงค่ำจะออกมาสังสรรค์กันอีกครั้ง และสิ่งที่นิยมทำกันคือการแจกขนมหวาน แสดงความเป็นมิตรไมตรีต่อกัน จึงถือได้ว่าเทศกาลโฮลี ของชาวอินเดียเป็นเทศกาลแห่งมิตรภาพ
การเล่นสาดสีให้เลอะเทอะจนบางทีสีติดตัว ติดเสื้อผ้าจนล้าง และซักไม่ออกนี้ สำหรับคนอินเดียมีความหมายที่ลึกซึ้ง คือหมายถึงมิตรภาพที่เหนียวแน่นยืนยง และจะติดตรึงไปตลอดกาลไม่มีวันจาง เหมือนสีสันที่ติดแน่นบนเนื้อผ้านั่นเอง เสื้อผ้าที่ใส่เล่นโฮลี จึงนิยมผ้าสีขาว ถึงแม้จะเลอะเทอะเปรอะเปื้อนด้วยสีต่างๆ จนซักไม่ออก ผู้สวมใส่ก็มักจะเก็บไว้เช่นนั้น ไม่นำไปทิ้ง
ในประเทศไทยเราก็มีการจัดงานฉลองเทศกาลโฮลีด้วยเช่นกัน มีการจัดงานในเมืองใหญ่ทั้งในกรุงเทพฯ และที่พัทยา ในช่วงกลางเดือนมีนาคม มีการแสดงทางวัฒนธรรมแบบอินเดีย ผู้คนแต่งกายด้วยชุดอินเดีย มีการนำสีมาป้ายหน้ากันพอมีสีสัน และมีการจัดงานรื่นเริงให้ประชาชน และนักท่องเที่ยว ได้ร่วมฉลองกันอย่างสนุกสนาน ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นเรื่องการท่องเที่ยวได้
แม้ความเชื่อที่ว่าเทศกาลโฮลี อาจเป็นต้นแบบของสงกรานต์ในไทย และอาเซียน ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิชาการ แต่ไม่ว่าทั้งสองประเพณีนี้จะเกี่ยวข้องกันหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันระหว่างเทศกาลโฮลี และสงกรานต์ก็คือ เป็นวันขึ้น ปีใหม่เหมือนกัน มีการละเล่นที่คล้ายกัน และมีคติความเชื่อเรื่องความเป็นสิริมงคลรับวันปีใหม่ไม่ต่างกัน.-สำนักข่าวไทย